ย้อนอดีต "ถนนเจริญกรุง" กับฉากหลบหนีการไล่ล่าใน Tomorrow Never Dies 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย บริเวณสะพานพิทยเสถียร
ข่าวที่น่าสนใจ
Cr. กรมศิลปากร – ถนนเจริญกรุง พ.ศ. 2407
ประวัติ “ถนนเจริญกรุง” ?
ถนน เจริญกรุง นับเป็นถนนสายแรกของ กรุงเทพฯ ซึ่งก่อสร้างเพื่อใช้ในการสัญจรภายในเขต ใจกลางเมือง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2404 – 2407 มี นายเฮนรี อลาบาสเตอร์ เป็นผู้สำรวจและเขียนแบบถนน เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้างถนน เจริญกรุง ช่วงคูเมืองตอนใน ถึง ถนนตก เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กองในการก่อสร้างถนน เจริญกรุง ตอนใน ระหว่างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถึง สะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน)
ถนน เจริญกรุง มีระยะความยาวของเส้นทางเริ่มตั้งแต่ สนามไชย ถึง ถนนตก ยาว 8,575 เมตร ถนนสายดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อสามัญว่า ถนนใหม่ (New Road) ในพระราชปรารถเรื่องถนน เจริญกรุง ในรัชกาลที่ 4 กล่าวถึงว่า “…ชาวต่างประเทศเข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้า ใช้รถ ให้สบาย ให้ถูกลมเย็นเส้นสายเหยียดยืดสบายดี…” โดยสร้างเป็นถนนถมดินและทรายอัดแน่น ปูพื้นผิวถนนด้วยอิฐ ผิวการจราจรแบ่งเป็นสองแนว
ครั้นเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2407 กลับปรากฏว่า “…คนใช้ม้าทั้งไทย ทั้งชาวนอกประเทศกี่คน ใช้รถอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่เต็มถนน ใช้อยู่แต่ข้างหนึ่ง ก็ส่วนถนนอีกข้างหนึ่ง ก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่มีใครเดินม้าเดินรถ เดินเท้า…ครึ่งหนึ่งของถนน เพราะไม่มีคนเดิน คนใช้ก็ยับไปเสียก่อน หากว่าปีนี้ ไม่มีฝน ถ้าฝนชุกก็เห็นจะยับไปมาก ฤาหญ้าก็จะขึ้นรกอยู่ข้างหนทาง…”
ความกังวลพระทัยนั้น เป็นผลต่อมา เมื่อถนน เจริญกรุง ชำรุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสำนักฝ่ายหน้า ฝ่ายในส่วนพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดในจำนวนปีมะเส็ง นพศก บริจาคทรัพย์นั้นเพื่อการซ่อมแซมถนนทั่วพระนคร
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้น ถนน เจริญกรุง จึงเป็นเส้นทางสำคัญสายหนึ่งที่เชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนใน ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยในสมัยหลัง ได้มีการขยายผิวการจราจร เทคอนกรีตและลาดยางพื้นผิวการจราจร เพื่อการงานเป็นเส้นทางคมนาคมสืบมาถึงปัจจุบัน
Cr. สำนักงานเขตบางรัก BangRak District Office
007 บุก “ถนนเจริญกรุง” ?
สำหรับฉากหลบหนีการไล่ล่าในภาพยนตร์ 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย เมื่อ 27 ปีก่อน นั้น อยู่บริเวณซอยเจริญกรุง 37 และสะพานพิทยเสถียร อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ หนุ่มบอนด์ และ หลิน ควบเจ้า BMW R1200C ด้วยท่านั่งในตำนาน หนีการไล่ล่ามาตามคลองผดุงกรุงเกษม คลองมหานาค และไปจบที่ดินแดง ทั้งนี้ ทีมงานใช้โลเคชั่นเจริญกรุง เนรมิตเป็นฉากการไลล่าในโฮจิมินห์, เวียดนาม โดย Tomorrow Never Dies ออกฉายในประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ปลดล็อกทุกความยุ่งยากในการขอถ่ายทำในพื้นที่สาธารณะของ กทม. ด้วยการเปิด ศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือ Bangkok Filmmaking Coordinator Center (BFMCC) ที่อาคารทำการส่วนการท่องเที่ยว (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) ถนนพระอาทิตย์, เขตพระนคร โดยให้บริการแบบ One Stop Service ในการประสานงานเพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการให้ข้อมูลกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดขั้นตอน เพิ่มความชัดเจน อำนวยความสะดวกให้ทั้งกองถ่ายภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์จากต่างประเทศ สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วจบในที่เดียว
Cr. สำนักงานเขตบางรัก BangRak District Office
ข่าวที่เกี่ยวข้อง