ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับความอันตรายของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์มิว ว่า ไวรัสสายพันธุ์มิว มีจุดเด่นเรื่องหนีภูมิคุ้มกันครับ เพราะมีการกลายพันธุ์ที่ผสมผสานกันระหว่างสายพันธุ์เบต้า กับ แอลฟ่า ข้อมูลล่าสุดที่ทีมวิจัยในญี่ปุ่นเปิดเผยออกมา ไวรัสสายพันธุ์นี้อาจจะหนีภูมิได้พอๆ หรือ ดีกว่า เบต้าของแอฟริกาใต้ จากข้อมูลของทีมวิจัยพบว่า มิวหนีภูมิจากซีรั่มของผู้เคยติดเชื้อได้ 12.4 เท่า (เบต้าได้ 8.2 เท่า) และหนีภูมิจากซีรั่มคนฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มได้ 7.6 เท่า (เบต้าได้ 6.3 เท่า)
แต่การกระจายตัวของมิวในปัจจุบันยังห่างไกลจากเดลต้ามาก ทำให้ประเด็นเรื่องการแพร่กระจายของมิวในกลุ่มประชากรจึงไม่น่ากังวลมาก แต่จากข้อมูลที่ทางญี่ปุ่นเผยแพร่ออกมาทำให้ผมมีคำถามที่อยากติดตามต่อคือ ในประเทศที่มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้าสูงมากๆอย่างอินเดีย จะมีโอกาสที่มิวจะเข้าไปหนีภูมิ และ สร้างปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ข้อมูลตรงนี้จะมีความหมายเพราะ ช่วงหนึ่งเดลต้าก็อาจจะลดลงเพราะแพร่กระจายไว ภูมิต่อเดลต้าก็จะมีมาก ไวรัสตัวที่จะมาแทนคือ ตัวที่หนีภูมิจากเดลต้าได้ดี และ มีความแพร่กระจายไวในระดับหนึ่งด้วย (มิวอาจได้คุณสมบัตินี้จากแอลฟ่ามา) ดังนั้น มิวจึงเป็นอีกตัวที่ต้องจับตามองดีๆครับ
ที่มา
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.09.06.459005v1