จับผิดหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา” เตือนครูอย่าเอาไปสอน ย้อนรอยความล้มเหลวปฏิวัติ 2475 เตือนความทรงจำการแย่งชิงอำนาจการเมือง

"พล.ท.นันทเดช" จับผิดหนังสือ "ขุนศึก ศักดินา" เตือนครูอย่าเอาไปสอนย้อนรอยความล้มเหลวปฏิวัติ 2475 เตือนความทรงจำการแย่งชิงอำนาจการเมือง แนะคนรุ่นหลังต้องศึกษาประวัติศาสตร์จะได้รู้การแย่งชิงอำนาจกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันแต่ไทยไร้นองเลือดอยู่รอดมาได้ผิดปฏิวัติฝรั่งเศสถึงขั้นฆ่าแกงกัน

TOP News พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “ขุนศึก ศักดินา กับ “ความล้มเหลวของการปฏิวัติ 2475” จากกรณีที่มีครูบางคนนำหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของนายณัฐพล ใจจริง ไปประกอบการสอนนั้น ขอให้พิจารณากันใหม่ เพราะนายณัฐพลอาจจะเป็นผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ได้ แต่ยังขาดความรอบคอบพอที่จะเขียนหนังสือให้เป็นตำราเรียนซึ่งมีตัวอย่างจากหนังสือดังกล่าวมาแล้ว และยังเกิดขึ้นในข้อเขียนอื่นๆ อีก เช่น กรณีจากบทความเรื่อง “ปฐมบทการม้วนประชาธิปไตย : การรัฐประหาร 2490 กับการตั้ง ‘อีกระบบหนึ่ง’ ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องเอกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ฉบับปีที่ 44 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2565) เพราะเมื่ออ่านแล้วพอที่จะเห็นได้ว่านายณัฐพลมักจะทิ้งข้อผิดพลาดไว้ในสาระสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ เช่น ตอนที่นายณัฐพลเขียนถึงเรื่อง

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“…การเมืองไทยหลังสงครามโลกควรบันทึกด้วยว่า ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลพลเรือนของกลุ่ม นายปรีดี พนมยงค์ พยายามรวบรวมพลังคนไทยทุกคน ร่วมสร้างประเทศขึ้นใหม่ภายหลังความบอบช้ำจากสงคราม ด้วยการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 ที่เคยเป็นอริต่อกันจากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อประสานพลังกอบกู้สังคมไทยเพื่อเดินไปข้างหน้า…”

ข้อเท็จจริง การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้นเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ ไม่ใช่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงไปแล้วตามที่นายณัฐพลเขียนไว้ (ญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 ก.ย. 2488 หลังการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ) กล่าวคือเกิดขึ้นหลังจาก อ.ปรีดี และนายควง อภัยวงศ์ ร่วมมือกันโหวตคว่ำร่างพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอเข้ามา เป็นผลทำให้จอมพล ป. จำเป็นต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบไม่เต็มใจ ประกอบกับ “ทางฝ่ายญี่ปุ่นก็แสดงท่าทีเริ่มไม่เอาจอมพล ป. แล้ว” ดังนั้นจอมพล ป. จึงต้องถอยไป

ส่วน อ.ปรีดีซึ่งเป็นคนคุมคะแนนเสียงของสภาส่วนใหญ่ควรจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ยอมเป็น อาจจะเป็นเพราะความเกรงใจหรือเกรงกลัวจอมพล ป. หรือเพราะการเป็นนายกฯ ในช่วงสงครามโลกนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ จึงไปตามนายควงมาเป็นนายกฯ แทน เพราะนายควงเป็นคนประเภท “ขวานผ่าซาก” อยู่แล้ว ในกรณีนี้นายควงได้ระบุว่า “นายปรีดีไม่กล้าเป็นนายกฯ เพราะกลัวจอมพล ป.”

อย่างไรก็ตาม นายควงก็ใช่ว่าจะไม่กลัวจอมพล ป. จึงไปพบกับจอมพล ป. ที่ลพบุรี พูดคุยกัน สรุปได้ว่าจอมพล ป. บอกว่าอยากทำอะไรก็ทำเลย นายควงจึงกลับมาล้ม วัฒนธรรมการเป็นผู้นำของจอมพล ป. ลงเกือบทั้งหมดแบบสะใจประชาชน คือ

วันที่ 24 ส.ค. 2487 ปลดจอมพล ป. ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำให้จอมพล ป. ขาลอยอยู่ 3-4 ปี

วันที่ 12 ก.ย. 2487 ยกเลิกระเบียบคำแทนชื่อ คำรับ และคำปฏิเสธ

วันที่ 18 ก.ย. 2487 เลิกบังคับสวมหมวก เลิกการห้ามกินหมาก และให้เสรีภาพในการแต่งกาย

วันที่ 2 พ.ย. 2487 ยกเลิกเรื่องการปรับปรุงอักษรไทยและตัวสะกดการันต์

วันที่ 31 ธ.ค. 2487 ออกแถลงการณ์ให้มีการคืนบรรดาศักดิ์ขุนนางและข้าราชการ ให้ใช้ได้โดยสมัครใจ

วันที่ 9 พ.ค. 2488 ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องหากบฏทั้งหมด (ตั้งแต่กบฏบวรเดชจนถึงกบฏ พ.ศ. 2481) นักโทษเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวให้พ้นมลทินเหมือนกับว่าไม่เคยกระทำผิดมาก่อน (สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อ 2 ก.ย. 2488)

ส่วนเรื่องการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 โดยนายณัฐพลอ้างว่าเพื่อพยายามรวบรวมพลังของคนไทยทุกคนมาร่วมสร้างประเทศใหม่ด้วยการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเด็น คือ

(1) กลุ่มปฏิปักษ์นั้นตามข้อเท็จจริงแล้ว เกือบทั้งหมดเป็นปฏิปักษ์ของจอมพล ป. มากกว่า

(2) สภาพประเทศชาติในขณะนั้นย่ำแย่มากจนกล่าวได้ว่าเป็นจุดของความล้มเหลวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการปฏิวัติ 2475

แต่อย่างไรก็ตามการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง อ.ปรีดีกับนายควง

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายจุดในบทความนี้ที่ดูเสมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่การสอนประวัติศาสตร์หรือเขียนบทความทางประวัติศาสตร์ในฐานะครูบาอาจารย์นั้น ควรที่จะลงในรายละเอียดสำคัญให้นักศึกษาหรือประชาชนได้เข้าถึงความจริงที่ควรรู้บ้างครับ อย่าไปย่นย่อหรืออนุมานเอาเองในช่วงตอนสำคัญของเหตุการณ์ เพราะนายณัฐพลได้ระบุว่าเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ไม่ใช่นักเขียนธรรมดาๆ ครับ

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันถึงของหนัง “2475 Dawn of Revolution” เป็นเหตุให้ “วิวัธน์ จิโรจน์กุล” ผู้กำกับหนังเรื่องนี้บ่นผ่านโซเชียล ดูแล้วน่าเห็นใจจริงๆ “…วันนึง ผมไม่รู้จะไปต่อยังไงแล้ว ผมจึงไป พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า พนมมืออธิษฐานต่อพระองค์ว่า ถ้าผมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ผมหมดหนทางไปต่อ ให้งานนี้ล้มเหลว และไม่สามารถเผยแพร่ได้ แต่ถ้าผมทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ขอพระองค์ทรงช่วยให้มีปาฏิหาริย์ ทำให้ผมสามารถทำงานนี้เสร็จ และประสบผลสำเร็จ ผมไม่รู้หรอกว่า ปาฏิหาริย์ หรือ ความดันทุรัง แอนิเมชันตัวนี้ มันจึงมาถึงจุดหมายปลายทางได้ เราเจ็บปวดที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่านที่เป็นผู้ซึ่งคอยประนีประนอม ประสาน และประคอง ให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด แต่กลับถูกกล่าวร้าย ถูกกระทำต่างๆ นานา แม้จนปัจจุบัน ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องการถูกชี้ว่าเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ทุกคนต่างเป็นตัวเอกในเรื่องราวของตัวเอง เป็นเรื่องปกติ เราเพียงแค่ต้องการคืนความเป็นธรรมให้พระองค์ท่าน และคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้…”

สืบเนื่องจากความเห็นต่าง ของ “สุดา พนมยงค์” “ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล” ทายาท “ปรีดี พนมยงค์” มีความเห็นโต้แย้งหนังเรื่องนี้ ผ่านสื่อโซเชียล ว่า “…เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เคยมีการสร้างสื่อในลักษณะใส่ร้ายและโจมตีการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม จึงไม่ประสบความสำเร็จในการปลุกกระแสดังกล่าวแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ยังคงดำเนินต่อไปในสังคมอีกยาวนาน ขอบคุณกรรมการทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันพิจารณาวิถีทางรับมือกับกระแสดังกล่าว และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านยืนหยัดอยู่กับความถูกต้องเสมอไป”

ประเด็นถกเถียงดังกล่าวกลายเป็นการแบ่งฝ่ายระหว่าง “ฝ่ายธรรมะ” กับ “ฝ่ายอธรรม” ขึ้นมาในสายตากูรูการเมืองบางคน อาทิ ผักกาดหอม แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ มองว่า แล้วใครจะเป็นคนตัดสิน เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีหลากหลายแง่มุม แม้กระทั่งในหมู่คณะราษฎรเอง ก็ยังแยกเป็น ฝ่ายธรรมะ กับ ฝ่ายอธรรม ตัดสินยากครับว่าใครเป็นฝ่ายไหน แต่จารึกในอดีตมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และพอจะบอกได้ว่า ใครคือฝ่ายธรรมะ ใครเป็นฝ่ายอธรรม

มีข้อมูลยาวยืดจากสถาบันพระปกเกล้า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมไปถึง ห้องสมุดสภาผู้แทนราษฎร

“หลวงพิบูลสงคราม” กล่าวไว้เมื่อครั้งการแก้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 ในสภาผู้แทนราษฎร

“…ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ เพราะเหตุเราจะต้องประสานกัน เราต้องการความสงบสุข เราต้องการสร้างชาติ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เราจึงไม่ได้ทำอะไรเลยกับพวกที่เห็นตรงกันข้าม ใครจะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อเปรียบกับในต่างประเทศ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า เราทำมาผิดกันไกล เช่น ฝรั่งเศสปฏิวัติกัน เขาก็ฆ่ากันนับพันๆ คน จนถึงกับเอาใส่รถใส่เกวียนไปฆ่ากัน

ส่วนเราเปลี่ยนกัน เปลี่ยนทั้งพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนทั้งอำนาจอะไรต่ออะไรด้วย เราก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย มิได้มีการเสียเลือดเนื้อกันเลย และผมว่า ในชีวิตเรา ในชีวิตลูกของเรา พวกรักระบอบเก่าแก้แค้นก็ไม่หมด เพราะว่าเราปล่อยไว้ อย่าว่าแต่การเปลี่ยนระบอบการปกครองและเปลี่ยนพระมหากษัตริย์เลย ขอให้มองดูใกล้ๆ การเปลี่ยนแต่พระมหากษัตริย์ ตัวอย่าง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เปลี่ยนจากพระเจ้าตากมาแล้ว ฝ่ายพระเจ้าตากเป็นอย่างไร ฝ่ายพระเจ้าตากต้องถูกประหารชีวิตหมด ถึงกระนั้นก็ดี ตอนหลังก็ยังปรากฏว่าจะมีการแย่งกันอีกเล็กน้อย นี่ตัวอย่างที่เราเป็นมาแล้ว แต่เราไม่ได้ทำอันตรายใครเกินเหตุ จึงทำให้พะวักพะวนอยู่ แต่ห่วงพวกรักระบอบเก่า พวกผมขอให้หมด ปิดฉากพยาบาทกัน แต่พวกตรงข้ามเขาไม่ยอม ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เขาแสดงทีท่าว่า ต่อให้ถึงลูกหลานเหลนของเราก็ต้องรบกันอยู่นั่นเอง…” ความหมายของ “หลวงพิบูลสงคราม” คือควรจะถอนรากถอนโคนตั้งแต่แรก

อีกด้านหนึ่ง บันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2435 ปรากฏความตอนหนึ่งว่า “….ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ….”

และความจริงขณะนั้นคือ คณะผู้ก่อการได้จับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน อาทิ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี, พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, พลตรี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (สวัสดิ์ บุนนาค) เสนาธิการทหารบก เป็นต้น

และเมื่อคณะราษฎรได้ตัวประกันคนสำคัญมาครบ จึงได้ออกประกาศว่า “ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย”

การพูดถึงคณะราษฎรในระยะเริ่มแรก ต้องเหมารวมทั้งหมด มิอาจแยกย่อยเป็นฝักฝ่ายเพราะมีความขัดแย้งกันเองได้

ฉะนั้นเริ่มแรก 2475 จึงปรากฏฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรม ขึ้นมา

ก็ตัดสินกันเองว่าใครเป็นฝ่ายไหน แต่ที่แน่ๆ ฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายธรรมะ แย่งชิงอำนาจกันเองอย่างดุเดือด หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน “ปรีดี พนมยงค์” ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุุรุษ ก็เป็นหนึ่งในตัวละครช่วงชิงอำนาจ “กบฏวังหลวง” เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2490 กลุ่มปรีดีหมดอำนาจและต้องหนีไปต่างประเทศ 2 ปีให้หลัง พยายามกลับมาชิงอำนาจคืนจากรัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม” ผ่านเครือข่ายขบวนการเสรีไทยและกำลังจากทหารเรือ

“ปรีดี” เชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากกองทัพเรือเมื่อเตรียมการแล้ว “ปรีดี” และคนสนิท เดินทางจากกวางตุ้งพร้อมด้วยอาวุธจำนวนมาก มาถึงประเทศไทยในราววันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2492 และได้จอดเรือที่บริเวณเกาะเสม็ด “หลวงพิบูลสงคราม” ระแคะระคาย สุดท้ายจบอย่างที่ทราบกัน คณะของปรีดีเป็นกบฏ แต่หากวันนั้น “ปรีดี” ชนะ ก็จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ฝ่ายประชาธิปไตยแสดงความรังเกียจกันหนักหนา อยากให้ใครเป็น ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม ก็จิ้มเอาครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เลือกตั้งสหรัฐ: โพลนิวยอร์กไทม์สให้แฮร์รีสชนะสวิงสเตท
เลือกตั้งสหรัฐ: รู้จัก 7 รัฐสวิงสเตทกันให้มากขึ้น
"เลือกตั้งสหรัฐ" รัฐนิวแฮมป์เชอร์ เปิดเลือกตั้งเป็นรัฐแรก
"กษิต" แจงยิบสาเหตุ รบ.อภิสิทธิ์ยกเลิก MOU 44 แต่ไม่สำเร็จ หนุนเจรจาต่อ ยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก
"จับผับลับห้วยขวาง" ลอบเปิดให้บริการ จัดเต็มแสง สี เสียง รวบ 26 นักเที่ยวจีนมั่วยา
ระทึก หกล้อขนถังแก๊ส เสียหลักพลิกคว่ำขวางถนนเชียงใหม่-แม่ออน กลิ่นแก๊สกระจายทั่วบริเวณ
"นักร้องสาวมาเลย์" พร้อมพวก ส่อวืดประกันนอนคุก หวั่นหลบหนีคดีไม่กลับมาขึ้นศาลตามนัด
ศาลนนทบุรี สั่งจำคุกหนุ่มใหญ่ 6 ปี 36 เดือน ผิดคดี 112 โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง
ตร.ปคบ.หอบสำนวน 7000 หน้า ส่งฟ้องคดีหลอกขายทอง “แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์” ให้กับอัยการแล้ว
10 บริษัทโฆษณา ชั้นนำในไทย ที่เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น