"ลูกเกด" ชลธิชา ชงตัดงบฯราชทัณฑ์ แขวะหลักสูตรศก.พอเพียงไม่ตอบโจทย์
ข่าวที่น่าสนใจ
จากกรณีเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 วันที่สอง ในการพิจารณา มาตรา 21 กระทรวงยุติธรรม จำนวน 13,325,833,500 บาท โดยสภาเห็นชอบผ่านมาตรา 21 ตามที่กรรมาธิการงบฯเสียงข้างมากแก้ไข ด้วยมติ 272 ต่อ 151
น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอพูดถึงโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังเพื่อคืนคนดีสู่สังคม ที่แบ่งเป็น 2 หลักสูตร 1.หลักสูตรทั่วไป งบประมาณ 12 ล้านบาท 2.หลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณ 13.083 ล้านบาท พบว่าจากการคำนวนงบประมาณกิจกรรมตามหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามที่กรมราชทัณฑ์ยื่นเอกสารมาได้ประมาณ 18 ล้านบาท ซึ่งต่างจากงบที่ขอมาประมาณ 5 ล้านบาท จะสามารถดำเนินโครงการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร โดยหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้งบประมาณมากกว่าหลักสูตรทั่วไป แต่มีกลุ่มเป้าหมายน้อยกว่าหลักสูตรทั่วไป
“คำถาม คือ ทำไมต้องเสียเงินไปมากแต่ได้ผลลัพธ์น้อยกว่า อีกทั้งหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ต้องขังมีทักษะสอดคล้องกับตลาดแรงงาน และการดำเนินการของหลักสูตรนี้ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพและความต้องการของผู้ต้องขังอีกด้วย ปัญหาหลักของหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ โครงการดังกล่าวเป็นกลไกพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังไม่สอดคล้อง ไม่สอดรับกับตลาดแรงงานภายนอก ไม่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่สำคัญคือไม่ยึดถือศักยภาพของผู้ต้องขังในการออกแบบหลักสูตร เท่าที่ทราบมาเรือนจำบางแห่งยังให้ผู้ต้องขังปั้นบ้านดินในการดำเนินโครงการ คำถาม คือ จะให้ผู้ต้องขังเหล่านี้กลับสู่สังคมแล้วไปปั้นบ้านดินเพื่อเลี้ยงชีพตนเองอย่างไร” น.ส.ชลธิชา กล่าว
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า นอกจากนี้โครงการที่ลดการกระทำความผิดซ้ำแต่ไม่เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาแต่อย่างใด คือ โครงการกำลังใจ ใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท แบ่งเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตนิตยสาร ฯลฯ 4.77 ล้านบาท ค่าการแปล 6.13 ล้านบาท การใช้เงินไปกับ 2 ส่วนข้างต้นทำให้เกิดคำถามว่า งบประมาณเหล่านี้จะมีส่วนช่วยผู้ต้องขังให้มีความพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมภายนอกได้อย่างไร ควรลดงบประมาณในการดำเนินโครงการทั้ง 2 ที่กล่าวมา อยากเห็นกรมราชทัณฑ์ออกแบบงบประมาณใหม่ที่สอดรับกับพันธกิจของกรมอย่างมีประสิทธิภาพ
ก่อนหน้านั้น “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว สส. พรรคก้าวไกล ซึ่งออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา และ นักโทษ คดีความผิดอาญา มาตรา 112 ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีอาญา ตามความผิดประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยและชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 โดยการใช้คำพูดสื่อให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ ทรงมีเจตนานำทรัพย์สินส่วนรวม และเบียดบังภาษีประชาชน มาเป็นสมบัติส่วนตัว รวมถึงทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง การบริหารงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย ไปเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567
นอกจากนี้ยังมีคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 อีกหนึ่งคดี จากการถูกกล่าวหาจากกรณีโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ ในกิจกรรม “ราษฎร์สาส์น” ซึ่งยังอยู่ระหว่างรอนัดสืบพยานที่ศาลอาญาในเดือนมีนาคม 2567
ทั้งนี้ หากภายหลังศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษาแล้ว เห็นว่าชลธิชามีความผิด พร้อมให้ลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา และไม่อนุญาตให้ประกันตัวทันที จะถือว่า “ลูเกด” ชลธิชา ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ซึ่งจะขาดคุณสมบัติการเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) โดยทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง