"โรคตุ่มน้ำพอง" คืออะไร สาเหตุ อาการป่วย วินัย ไกรบุตร รักษาตัว 5 ปี ก่อนเสียชีวิต คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคเพมฟิกัส - เพมฟิกอยด์
ข่าวที่น่าสนใจ
“โรคตุ่มน้ำพอง” ?
โรค ตุ่มน้ำพอง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็ไม่ใช่โรคหายาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกัน กลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก รอยโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ โรคที่พบบ่อย มี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคเพมฟิกัส และ โรคเพมฟิกอยด์
โดย โรคเพมฟิกัส มักพบในช่วงอายุ 50 – 60 ปี มีความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเกิดในผิวหนังชั้นตื้นกว่า แต่อาจกินบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจึงมีแผลเสมือนถูกน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย มีอาการเจ็บ และอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่นได้ เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ ที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบมาก เมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น
ส่วน โรคเพมฟิกอยด์ พบได้บ่อยกว่า โรคเพมฟิกัส มักพบในอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้สูงอายุ เกิดจากมีการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าออกจากชั้นหนังแท้ จะเกิดการแยกชั้นของผิวหนังที่ลึกกว่า แต่ก็มักจะกินบริเวณไม่กว้างมากนัก ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสขนาดต่าง ๆ กัน โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยากหรืออาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ โดยทั่วไปความรุนแรงของโรคมักน้อยกว่าเพมฟิกัส
“โรคตุ่มน้ำพอง” มักต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ร่วมกับการตรวจทางอิมมูนเรืองแสงในการวินิจฉัยโรคด้วย
ยาที่ใช้รักษาเป็นหลัก คือ ยา คอร์ติโค สเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน ใน โรคเพมฟิกอยด์ ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยา ทาคอร์ติโค สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มที่ไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่ตุ่มน้ำหรือแผลถลอกมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วม
ด้วยโรค ตุ่มน้ำพอง มีการดำเนินโรคค่อนข้างเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากโรคสงบแล้วอาจเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรค ตุ่มน้ำพอง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค
สำหรับ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) ทำความสะอาด ไม่แกะเกาผื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่องมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง ไม่ควรลดหรือเพิ่มยาเอง และดูแลรักษาแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี โรคผิวหนังมีจำนวนหลายพันโรค เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก เมื่อเกิด ผื่น ตุ่ม ฝี หรือมีร่องรอยต่าง ๆ มักจะเห็นได้ง่าย จึงทำให้มีการตั้งชื่อโรคผิวหนังต่าง ๆ มากมาย บางชื่ออาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักสำหรับคนไทย ทั้ง เพมฟิกัส เพมฟิกอยด์ ทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคใหม่ ทั้ง ๆ ที่จริง มีมานานแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง