วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของพรรคภูมิใจไทย มีมติเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ดังนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
รองหัวหน้าพรรค 3 คน คือ
– นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล สส.พระนครศรีอยุธยา
– นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง
– นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ
นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย 3 คน คือ
– นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี
– นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร
– น.ส.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ สส.พระนครศรีอยุธยา
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเหรัญญิกพรรคภูมิใจไทย
นส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย เป็นนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย
ส่วนกรรมการบริหารพรรค จำนวน 6 คน ได้แก่
– นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง
– นายวรศิษฏ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล
– นายชลัฐ รัชกิจประการ สส.บัญชีรายชื่อ
– นายธนยศ ทิมสุวรรณ สส.เลย
– นายจักรกฤษณ์ ทองศรี สส.บุรีรัมย์
– นายกิตติ กิตติธรกุล สส.กระบี่
นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังใช้อำนาจหัวหน้าพรรคแต่งตั้งทีมโฆษกพรรค จำนวน 3 คน โดยเป็นโฆษกพรรค 2 คน ได้แก่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี และ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา ส่วน น.ส.ผกามาศ เจริญพันธ์ สส.สุรินทร์ เป็น รองโฆษกพรรค
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทยทำงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 กำลังก้าวสู่ปีที่ 16 ในเดือนเมษายนนี้ เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน มี สส.เพิ่มมากขึ้นในทุกการเลือกตั้ง แสดงว่านโยบายการทำงานของพรรคภูมิใจไทยเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน เราเติบโตขึ้นจากการทำงานหนักแลกกับคะแนนความไว้วางใจของพี่น้องประชาชน การเติบโตและการก้าวหน้าของพรรคภูมิใจไทยไม่ใช่โตตามกระแส แต่โตด้วยผลงาน ปัจจุบันมี สส. 71 คน มาจากทั่วทุกภาคของประเทศ เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด และทำงานอย่างหนักให้พี่น้องประชาชน ได้เกิด ประโยชน์สูงสุด ทำให้ประเทศไทยที่พวกเรารักเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน
15 ปีที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยพิสูจน์แล้วว่าเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีภารกิจปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ เป็น DNA ของพรรคภูมิใจไทย เป็นนโยบายและภารกิจหลักของสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เราเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในคำพูด เมื่อพูดแล้วต้องทำ เรากล้าประกาศนโยบายต่อประชาชน แม้จะมีความยากลำบากที่จะทำให้สำเร็จ แต่เราก็ทำให้เกิดความสำเร็จสูงสุด เพื่อตอบแทนความไว้วางใจของพี่น้องประชาชน เรายังไม่มีสิ่งใดที่เราให้สัญญากับพี่น้องประชาชนและยังไม่ได้ทำ
เมื่อถามว่า กก.บห.พรรคภูมิใจไทย เป็นคนรุ่นใหม่ถือว่าเป็นการถ่ายเลือดของพรรคครั้งใหม่หรือไม่ นายอนุทิน ย้ำว่า “เป็นการผลัดวิตามิน”
ในฐานะแม่บ้านคนใหม่จะมีการปรับปรุงพรรคยังไงที่จะให้เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ นายไชยชนก เผยว่า การเปรียบเทียบตำแหน่งเลขาพรรคเป็นแม่บ้านพรรค มีความเหมาะสม เพราะไม่ได้มีแม่บ้านเพียงคนเดียว ทุกคนช่วยกันมาตลอด หากเปรียบเสมือนพรรคเป็นบ้าน และมีสมาธิคนอื่นๆ ช่วยดูแล แม้บ้านจะรกแต่ทุกคนก็ช่วยกันเก็บ ช่วยกันปรับปรุง งานแม่บ้านก็จะไม่หนัก
นายอนุทิน เผยด้วยว่า พรรคภูมิใจไทยเติบโตทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทุกคนเป็นนักการเมืองโดยจิตวิญญาณ โดยสายเลือด ทุกคนมีความสุขที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง นี่คือสไตล์การทำงานของพรรคภูมิใจไทย ให้เกิดความมั่นใจว่าพรรคภูมิใจไทยพูดแล้วทำ พูดแต่เรื่องจับต้องได้ ไม่ใช่สัญญาลมๆ แล้ง ๆ การตอบสนองของประชาชนทำให้พรรคภูมิใจไทยโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การที่ถูกจับตามองว่าเป็นบ้านใหญ่ตระกูลชิดชอบคนที่ 2 ตำแหน่งเลขาฯ เป็นการล็อคตำแหน่งไว้ให้หรือไม่ นายไชยชนก ไม่ปฏิเสธ พร้อมระบุว่าการที่จะมองว่าตนเป็นหลานปู่ เป็นหลานอา เป็นลูกพ่อ เพราะประสบการณ์ที่ตนได้รับส่งเสริมให้เรียนรู้และพัฒนา เข้าใจได้เร็วพอสมควรในการเตรียมตัวเองให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่เครียดจะถูกมองบวกหรือลบ
“การเป็นทายาทมีผลบวกเยอะ แต่ผมต้องพิสูจน์ตัวเองและเป็นหน้าที่ของประชาชน สมาชิกพรรค ที่จะตัดสินจากผลงาน”
สำหรับประวัติ ของรองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยทั้ง 3 คน มีความน่าสนใจ ดังนี้
– นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล สส.พระนครศรีอยุธยา เกิด 2 กันยายน พ.ศ. 2519 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 3 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกใน พ.ศ. 2550 ในสังกัดพรรคพลังประชาชน ปัจจุบันสังกัดพรรคภูมิใจไทย และ ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย
เป็นบุตรของนาย วีระชัย พันธ์เจริญวรกุล อาชีพรับเหมาก่อสร้าง และนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ. พระนครศรีอยุธยา มีพี่น้อง 5 คน อาทินางสมศรี ต้นจรารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลลำตาเสา, นางสาวสุวิมล พันธ์เจริญวรกุล อดีต ส.ส. พระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทยและนางสาวนภัสวรรณ พันธ์เจริญวรกุล ภรรยาร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช
สุรศักดิ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา วาสุกรี และ บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยรังสิต สมรสกับ นางสาวสุรภา ศิริจินดาชัย
อดีตเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอวังน้อย เขต1 ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน แทนนางสาวสุวิมล พี่สาว ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย ที่วางมือทางการเมือง
เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในปี 2566
– นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง กรรมการในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และเป็นบุตรชายของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และเป็นโฆษกพรรคภูมิใจไทย
ชื่อเล่น แบต เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2522ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นบุตรของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับนางรวีวรรณ ปริศนานันทกุล (สกุลเดิม : ฉัตรบริรักษ์) จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสถิติ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Warwick University ประเทศอังกฤษ
ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง คู่กับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา
ในปี พ.ศ. 2561 เขาได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทองอีกสมัย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกพรรคภูมิใจไทย
ในปี พ.ศ. 2563 นายภราดร ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
– นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ ชื่อเล่น โต้ง เกิดเมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2519) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต 1 สังกัดพรรคภูมิใจไทย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต 1 สังกัดพรรคชาติไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นบุตรของนายฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศรีสะเกษ และนางสกุลทิพย์ อังคสกุลเกียรติ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนมารีวิทยา ศรีสะเกษ มัธยมศึกษา จากโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปริญญาตรี จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ปริญญาโท จากสาขาการจัดการระบบสารสนเทศ (MIS) มหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา (United States of America) และปริญญาเอก คณะเกษตร จากสาขาเกษตรเขตร้อน (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายสิริพงศ์ก้าวสู่การเมือง เป็น ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทย เมื่อปี 2550 และเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย แต่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 (บ้านเลขที่ 109) กระทั่งพ้นกำหนดเวลาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จึงได้เข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนาและเคยถูกวางตัวเป็นเลขาธิการพรรค
ต่อมานายสิริพงศ์ก็ย้ายสังกัดมาอยู่พรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะลงสมัคร ส.ส. ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ชนะนายธเนศ เครือรัตน์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย กว่า 9.6 พันคะแนน เป็น ส.ส. สมัยที่ 2 ได้เป็นผลสำเร็จ