"เชื้อราแมว" ภัยใกล้ตัวทาส ผื่นคันลามทั้งตัว แม้จะรักษาได้ไม่ยาก แต่อาจต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานเป็นเดือน ป้องกันได้จะดีที่สุด
ข่าวที่น่าสนใจ
“เชื้อราแมว” ?
เชื้อรามีหลายชนิดด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่ที่พบจะเกิดจาก ไมโครสปอรัม เคนิส (Microsporum Canis) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการ โดยเชื้อราประเภทนี้มักจะเกิดจากความชื้นสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของน้องแมว แน่นอนว่า แมวขนยาวจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าแมวขนสั้น เพราะสามารถเกิดการสะสมความชื้นได้มากกว่า
ลักษณะอาการของโรคนี้ มักจะสังเกตได้ไม่ยาก สังเกตจากบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ จะเป็นผิวหนังที่มีลักษณะแห้ง แดง และอาจจะมีอาการผิวหนังลอก รวมถึงอาการแมวขนร่วงเป็นหย่อม ๆ อีกด้วย หากเจออาการเหล่านี้ ก็สันนิษฐานได้เลยว่า เจ้าแมวน้อยของคุณอาจจะกำลังเป็นเชื้อรา แมว ก็ได้นะ หากไม่รีบทำการรักษา คนเลี้ยงแมวอย่างเรา ๆ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อราจากน้องแมวได้เหมือนกัน
โดยการติดต่อของโรคจาก แมวสู่แมว หากมีแมวที่เลี้ยงรวมกันหลายตัวควรปฏิบัติ ดังนี้
เมื่อมีแมวตัวใดตัวหนึ่งมีอาการของโรคผิวหนัง ให้พาแมวทุกตัวไปตรวจเพาะเชื้อที่คลินิก แยกแมวติดเชื้อราและไม่ติดเชื้อราออกจากกัน ยกเลิกโปรแกรมการผสมพันธุ์ การพาแมวออกไปนอกสถานที่ และควรใช้แชมพูสำหรับรักษาอาการเชื้อรา แมว ในการอาบน้ำโดยเฉพาะ อาจจะให้กินยาร่วมด้วยจนกว่าจะอาการดีขึ้น ซึ่งมีข้อปฏิบัติ ดังนี้
- ให้ยากับน้องแมวกินตามที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
- หากแมวมีอาการเบื่ออาหาร ซึม ควรหยุดยากินและพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
- พาน้องแมวไปรับการตรวจร่างกายตามที่สัตวแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
ติดต่อจากแมวสู่คน?
การติดต่อของโรค “เชื้อราแมว” จาก แมวสู่คน สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการลูบ กอด หอม หรือการสัมผัสอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากติดเชื้อรา แมว จะมีอาการ
- ผื่นแดงขึ้นตามร่างกายทั้งวงเล็กและวงใหญ่
- มีขุยขึ้นตามบริเวณรอบ ๆ ผื่นแดง
- มีอาการคันตามผื่นแดง
- อาจเกิดผื่นแดงเพิ่มขึ้นเมื่อเกาที่บริเวณผื่นแดงและไปสัมผัสจุดอื่น ๆ บนร่างกาย
- หากมีการติดเชื้อที่หนังศีรษะ อาจพบเส้นผมในบริเวณที่ติดเชื้อร่วงเป็นหย่อม
โดยวิธีรักษาเชื้อรา แมว ในผู้ป่วย สำหรับที่ผิวหนัง ให้ทายาฆ่าเชื้อราที่ได้รับจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยอาการต่าง ๆ หากไม่หนักมาก ก็จะดีขึ้นภายใน 3 – 4 สัปดาห์ หากพบผื่นจำนวนมาก แพทย์อาจให้รับประทานยาต้านเชื้อราควบคู่กับการทายาฆ่าเชื้อราไปด้วย และหากติดเชื้อบนหนังศีรษะ ควรรับประทานยาต้านเชื้อราตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง การใช้ยาทาหรือแชมพูฆ่าเชื้อราเพียงอย่างเดียวอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่เพียงพอ
การป้องกัน?
ใครที่หายจากอาการแล้ว หรือยังไม่เคยเป็น ก็อย่าลืมป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเชื้อรา แมว กันด้วย ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
- ล้างมือ และอวัยวะต่าง ๆ ที่สัมผัสกับแมว ให้สะอาด
- ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ ที่มีการสัมผัสกับแมว
- นำแมว ไปทำความสะอาด โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ป้องกันเชื้อรา และเป่าขนให้แห้ง หลังจากทำความสะอาดเป็นประจำ
- นำแมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อราเป็นประจำ
- ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส และใกล้ชิดแมว ตลอดเวลา เช่น การนำแมวไปนอนบนเตียงด้วย เป็นต้น
- หากพบว่า แมว มีความผิดปกติ ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์
ต่อไปนี้หากเจ้าเหมียวที่บ้านมีอาการคล้าย ๆ การเป็นเชื้อรา ทาสทั้งหลายก็อย่าลืมพาเจ้านายไปตรวจและรับการรักษาตั้งแต่พบอาการทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงที่ต้องใช้เวลาในการรักษายาวนาน จะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะลามไปติดแมวตัวอื่น ๆ รวมถึงตัวเจ้าของเองด้วย จะได้มีสุขภาพที่ดีทั้งทาสและเจ้านาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง