กรมปศุสัตว์ ให้ความมั่นใจกับผู้เลี้ยงหมูในการจากการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า จากการเช็คสอบในระบบ สุกรลักลอบ (หมูเถื่อน) ไม่น่ามีแล้ว… อย่างไร? เอาอะไรมามั่นใจ “ไม่น่ามีแล้ว” แปลว่าอาจจะมีอยู่ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องควรพูดว่าหมูเถื่อนไม่มีการลักลอบนำเข้ามาใหม่…แต่ที่ลักลอบนำเข้ามาก่อนหน้านี้ ยังมีซุกซ่อนอยู่ในห้องเย็น แต่ยังตรวจค้นไม่พบเพราะจากหลักฐานการนำเข้าหมูเถื่อนและสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลแช่แข็ง เป็นโพลิเมอร์จำนวน 2,385 ใบขน ที่ผ่านพิธีการศุลกากรมาจำหน่วยในประเทศแล้ว น้ำหนักหมูเถื่อน 60,000 ตัน ( 60 ล้านกิโลกรัม) ทั้ง กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงหลักฐานว่าสามารถจับกุมได้ทั้งหมด และยิ่งการกวาดล้างหย่อนยาน หมูเถื่อน ก็จะยังคงสร้างปัญหาให้ผู้เลี้ยงไทยไม่มีวันจบ
หมูเถื่อนที่เล็ดลอดออกมาสู่ตลาดในประเทศดังกล่าว เป็น “ตัวการ” ที่ไม่ใช่คน แต่กดราคาสุกรหน้าฟาร์มมา 2 ปี โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ราคาร่วงต่อเนื่องจนบางพื้นที่ราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว เมื่อเทียบกับต้นทุนผลิตของเกษตรกร 70-72 บาทต่อกิโลกรัม อนาคตมีแต่ความมืดมน เพราะหมูเถื่อนที่ยังตกค้างในห้องเย็นทั่วประเทศ จะหมดอายุภายในสิ้นปีนี้ถูกระบายออกมาจากห้องเย็นจำนวนมาก เมื่อมาสมทบกับหมูไทยจึงเป็นการเพิ่มซัพพลายในตลาด จนถึงจุด “ล้นตลาด” (Over Supply) ยิ่งเป็นโอกาสให้พ่อค้าหัวใสกดราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม บีบให้เกษตรกรต้องขายผลผลิตในราคาขาดทุน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า หลังเกิดโรคระบาด ASF ในปี 2565 จำนวนเกษตรกรเลี้ยงหมูไทยลดลงจาก 200,000 กว่าราย เหลือเพียงประมาณ 50,000 ราย เท่านั้น โดยเฉพาะรายย่อยต้องเลิกอาชีพเพราะภาระขาดทุนสะสมสูงเกินกว่าจะแบกรับได้ ขณะที่ผลผลิตกลับสู่ภาวะปกติที่ 18.5-19 ล้านตัวต่อปี แต่ราคากลับไม่อยู่ในภาวะสมดุลและไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง นั่นเพราะหมูเถื่อนยังวนเวียนอยู่ในตลาด กวาดล้างไม่หมด เป็นตัวฉุดราคาในประเทศจนตกต่ำไม่สามารถขึ้นไปยืนที่ระดับคุ้มทุนได้มากกว่า 1 ปี
ยิ่งภาครัฐปล่อยปละไม่ตรวจค้นห้องเย็นอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะพบหลักฐานมัด “ตัวการใหญ่” ที่เป็นคนชักใยเบื้องหลังห่วงโซ่ “หมูเถื่อน” เนื่องจากมีการนำหมูเถื่อนไปแปรรูปและขายในหลายรูปแบบ รวมถึงเร่งผลักดันให้ออกจากห้องเย็นของตนเองเร็วที่สุด ดังนั้นการตรวจค้นช่วงหลังจึงเป็นการ “คว้าลม” ไม่ได้ของกลางจำนวนมากเช่นที่ผ่านมาในปี 2565-2566 ที่สำคัญราคาในประเทศตกต่อเนื่องมามากกว่า 2 เดือน ยิ่งตอกย้ำว่า หมูเถื่อนมากกว่า 60 ล้านกิโลกรัม ที่เล็ดลอดออกสู่ตลาดในประเทศ ยังคงสร้างปัญหาด้านราคาให้กับผู้เลี้ยงหมูไม่สิ้นสุด
นอกจากนี้ การตรวจค้นช่วงที่ผ่านมาพุ่งเป้าไปที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นหลัก แต่ไม่ได้ปูพรมตรวจค้นทุกท่าเรือที่กรมศุลการกรมีการตรวจปล่อยสินค้านำเข้ามาในราชอาณาจักร เช่น ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือสงขลา เป็นต้น จึงอาจเป็นโอกาสให้หมูเถื่อนลักลอบเข้าประเทศเพิ่มเติมได้ และตั้งแต่ปี 2565 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบท่าเรือดังกล่าวแต่อย่างใด
วันนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังคงยืนยันว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาหมูไทยยังตกต่ำต่อเนื่อง คือ “หมูเถื่อน” ที่ยังคงทยอยออกสู่ตลาดเติมซัพพลายให้ล้นต่อเนื่อง พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเดินหน้าต่อเนื่องกวาดล้างหมูเถื่อนให้สิ้นซาก เพื่อดึงราคาในประเทศกลับสู่ระบบกลไกตลาด หาไม่…หมูไทยอาจถูกตอน ไม่สามารถสร้างผลผลิตคุณภาพดีปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อและสารตกค้างอื่นๆ ให้กับคนไทยได้บริโภคอย่างยั่งยืน./
โดย แทนขวัญ มั่นธรรมะ นักวิชาการอิสระ