สภาฯเห็นชอบ “สมรสเท่าเทียม” พร้อมรับสิทธิในฐานะ “คู่สมรส” ส่งสภาสูงพิจารณาต่อ ลุ้นลงมติก่อนสว.พ้นวาระ Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
27 มีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 400 เสียง ต่อ 10 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมการธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ สส.มุสลิม ได้ขอใช้เอกสิทธิ์ไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจาก หลักการร่างกฎหมายดังกล่าว ขัดต่อหลักศาสนา
โดยสาระสำคัญในกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น เป็นการคืนสิทธิให้แก่บุคคล อาทิ การแก้ไขคำว่า ชาย-หญิง-สามี-ภริยา เป็นคำว่า บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น และคู่สมรส เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือ คู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตาม โดยบุคคล สามารถหมั้นกันได้ เมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งการหมั้นจะสมบูรณ์ เมื่อฝ่ายผู้หมั้น ได้ส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินให้แก่ผู้รับหมั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ให้มีสิทธิเรียกรับผิดใช้ค่าทดแทน และหากผู้รับหมั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้คืนของหมั้นแก้ผู้หมั้นด้วย
ขณะที่ การสมรสจะกระทำได้ เมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสกันก่อนได้ พร้อมห้ามการสมรส ในกรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือสืบสายโลหิตเดียวกัน และไม่สามารถสมรสซ้อนกับบุคคลอื่นได้ รวมถึงการหย่าจะสมบูรณ์ เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนหย่า ซึ่งเหตุฟ้องหย่า อาทิ มีชู้ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ คู่สมรสประพฤติชั่ว ทำร้ายร่างกายและจิตใจ จงใจทิ้งร้างอีกฝ่ายกว่า 1 ปี เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีคู่หมั้น หรือคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง ไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าเพศใด พร้อมแก้ไขเงื่อนระยะเวลาการสมรสใหม่ ในกรณีที่หญิงมีชายเป็นผู้สมรสเดิม และจะสมรสกับชายใหม่เท่ากัน (เพื่อป้องกันกรณีที่มีครรภ์จากชายเดิมติดมาด้วย) รวมถึงการเพิ่มเหตุการฟ้องหย่าให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน เช่น มีชู้ร่วมประเวณีกับ “ผู้อื่น” เป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ที่มาจากภาคประชาชน ได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลาง ๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน แต่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก
ทั้งนี้ เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสภานะ “คู่สมรส” ดังนั้น ก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่น ๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ “คู่สมรส” อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย
ด้านนายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพื่อทุกคนในประเทศโดยที่คู่สมรสชาย-หญิง เคยได้รับสิทธิอย่างไร ก็จะไม่เสียสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายฉบับนี้ จะคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคืนสิทธิให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เคยเสียสิทธิไป ทั้งการรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษี การลงนามยินยอมให้คู่สมรสเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียมในสังคมไทย ที่จะทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่เปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันสมรสกัน
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ สภาผู้แทนราษฎร จะส่งต่อให้วุฒิสภา พิจารณาตามขั้นตอน โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ โฆษกวิปวุฒิสภา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของวุฒิสภา ในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้วว่า วุฒิสภา พร้อมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ในวันที่ 1-2 เมษายนนี้ หรือ วันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 และมั่นใจว่า จะสามารถพิจารณารับไว้พิจารณา พร้อมตั้งกรรมาธิการฯ มาพิจารณาต่อได้ทันอย่างแน่นอน ซึ่งกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาในช่วงการปิดสมัยประชุม มาพิจารณา ก่อนจะเสนอกลับมายังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ให้ทันก่อนที่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่
ผู้สื่อข่าวยังรายงานว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน จะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ แต่จะยังคงอยู่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 อาจจะอยู่ในช่วงรอยต่อดังกล่าว ดังนั้น วุฒิสภา จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภา ไปศึกษาความพร้อมหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพิจารณาร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น