29 มีนาคม 2567ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 โพสต์ข้อความให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ 2475 เบิกเนตรนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ต่อเนื่อง หลังเจ้าตัวโจมตีหนังแอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” โดยล่าสุด ศ.ดร.ไชยันต์ โพสต์เฟสบุ๊กเรื่อง “องคมนตรีสภา” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับการเตรียมตัวไปสู่ “ประชาธิปไตย” อาจารย์สุลักษณ์กับ2475แอนิเมชั่น
โดยระบุรายละเอียดว่า ในคลิปวิดีโอเรื่อง “คู่มือรับชม อนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” ท่านอาจารย์สุลักษณ์ได้กล่าวว่า “และในเวลานั้นมีองคมนตรีสภา องคมนตรีสภามีหน้าที่อย่างเดียว ในหลวงพระราชทานอะไรมา แล้วก็ออกความเห็นช่วยท่าน หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งเป็นสมาชิกองคมนตรีสภา เสนอว่าสภาควรจะมีความเห็น ถวายในหลวงพิจารณาด้วย เพียงเท่านี้ องคมนตรีสภายังไม่ทำเลย แล้วจะทำอะไรได้”
ซึ่ง ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุข้อมูลว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทขององคมนตรีสภานั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์ได้กล่าวไว้ว่า “สภาควรจะมีความเห็น ถวายในหลวงพิจารณาด้วย เพียงเท่านี้ องคมนตรีสภายังไม่ทำเลย แล้วจะทำอะไรได้” เพราะในฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า หัวข้อ “สู่การปกครองในระบบรัฐสภา: สภากรรมการองคมนตรี” ที่มี รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล เป็นผู้เรียบเรียง และรองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ กล่าวว่า “ข้อมูลหลักฐานเท่าที่ยังมีอยู่ ผลงานที่สำคัญคือ การประชุมปรึกษาถวายความเห็นร่างพระราชบัญญัติและร่างประกาศที่พระราชทานลงมา
ในประเภทแรกมีร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว ซึ่งมีประเด็นว่าจะให้มีผัวเดียวเมียเดียวหรือไม่ และซึ่งประกาศใช้ในชื่อว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายลักษณะผัวเมีย ร่างพระราชบัญญัติทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ซึ่งสภากรรมการองคมนตรีมีมติไม่เห็นชอบที่จะตราเป็นพระราชบัญญัติ เพราะจะมีผลเสียตรงที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการได้มากขึ้น และร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 เป็นต้น
ในประเด็นการเพิ่มความโปร่งใส อภิรัฐมนตรีสภาได้ประชุมกันพิจารณาว่าจะให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นกรรมการเข้าสังเกตการณ์การประชุมสภากรรมการองคมนตรีได้หรือไม่ ในเรื่องนี้แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นดี แต่ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบ เมื่อครบวาระ 3 ปีของสภาฯ ชุดแรก กรรมการ 27 ท่านจาก 40 ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้งตามรายนามซึ่งอภิรัฐมนตรีสภาเสนอ ทั้งๆ ที่กรมพระดำรงราชานุภาพทรงเสนอให้แต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เสียกำลังใจ ทุกท่านเป็นข้าราชการประจำหรือเกษียณอายุ
เห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมตามมติเสียงข้างมากของอภิรัฐมนตรีสภา แม้เมื่อต่างจากพระราชดำริของพระองค์เอง เสมือนว่าตั้งพระราชหฤทัยจะทรงวางพระองค์เป็นแบบอย่างของวิถีประชาธิปไตย หากแต่ว่าเป็นที่น่าเสียดายที่พระองค์มิได้ทรงเห็นควรที่จะทรงวางพระองค์ในฐานะประธานในที่ประชุม เป็นเฉกเช่น “นายกรัฐมนตรีที่มีความแข็งขัน” ซึ่งเป็นตัวอย่างอยู่ในระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ด้วยการทรงนำและคุมร่องการประชุม หรือไม่ก็ทรงพยายามแล้วแต่ไม่ค่อยได้ผล ในภาวการณ์เช่นนั้นสภากรรมการองคมนตรีจึงขาดโอกาสที่จะเป็นองค์กรนำร่องของรัฐสภาอย่างแท้จริง