“ภูมิธรรม” มั่นใจดันผู้ประกอบการเพิ่มแต้มต่อการค้า เปิดประตูสู่เอเชียใต้ หลังดัน FTA ไทย – ศรีลังกา ผ่านสภาสำเร็จ

กดติดตาม TOP NEWS

วันที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ได้มีมติเห็นชอบความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ทำให้ FTA ไทย – ศรีลังกา เป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 15 ของไทย และเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งความตกลง FTA ไทย – ศรีลังกา จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดศรีลังกา รวมทั้งขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนให้กับนักลงทุนไทยที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียใต้ เนื่องจากศรีลังกาเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านที่ตั้งทางยุทธศาสตร์อยู่บนเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกในมหาสมุทรอินเดีย เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ สู่ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวมทั้งยังมีวัตถุดิบทั้งด้านการเกษตร ประมง และแร่ธรรมชาติ ที่เหมาะสมสำหรับการเป็นฐานการลงทุนของนักลงทุนไทย

โดยในด้านการค้าสินค้า ความตกลงฯ จะช่วยขยายโอกาสให้สินค้าไทยได้แต้มต่อทางภาษีศุลกากรในการเข้าสู่ตลาดศรีลังกาจากการที่ศรีลังกายกเว้นภาษีสินค้า ถึงร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด โดยสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ สัตว์มีชีวิต อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ อาหารสัตว์ ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อัญมณี เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แร่โลหะ ปุ๋ย เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น โทรทัศน์ ถุงมือยาง และเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะมีแหล่งวัตถุดิบทางเลือกเพิ่มมากขึ้น จากการที่ไทยเปิดตลาดให้กับสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบจากศรีลังกา อาทิ ด้ายไนลอน และสารเติมแต่งสำหรับน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย ด้านการค้าบริการ ความตกลงฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในภาคบริการในศรีลังกามากขึ้น โดยศรีลังกาได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการไทยสามารถถือหุ้นในกิจการได้ถึงร้อยละ 100 ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ สาขาบริการคอมพิวเตอร์ บริการวิจัยและพัฒนา บริการโฆษณา บริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ บริการทดสอบและวิเคราะห์ทางเทคนิค บริการโทรคมนาคม บริการด้านแฟรนไชส์ บริการสิ่งแวดล้อม บริการด้านการเงินและประกันภัย บริการโรงแรมและร้านอาหาร บริการด้านการกีฬาและนันทนาการ และบริการขนส่งทางทะเล และด้านการลงทุน ความตกลงฯ จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในศรีลังกามากขึ้น ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะการลงทุนจัดตั้งธุรกิจในสาขาการผลิต จำนวน 35 สาขา อาทิ การแปรรูปอาหาร การผลิตสิ่งทอ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และทันตกรรม นอกจากนี้ นักลงทุนไทยจะได้รับการคุ้มครองการลงทุน อาทิ กรณีการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน หรือเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ รวมถึงนักลงทุนไทยยังสามารถใช้กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐได้อีกด้วย

นายภูมิธรรม เผยว่า หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะแจ้งหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนแสดงเจตนาต่อศรีลังกาให้ความตกลงฯ มีผลผูกพัน เพื่อให้ FTA ไทย – ศรีลังกา มีผลบังคับใช้โดยเร็ว รวมทั้งจะเดินหน้าประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลและประโยชน์ที่ไทยได้รับให้ถึงกลุ่มผู้ประกอบการในวงกว้าง โดยเฉพาะ MSMEs ให้ทราบถึงโอกาสและสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่ และจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 415.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา 291.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกา 124.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับน้ำมันสำเร็จรูป ผ้าผืน ยางพารา เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก สินค้านำเข้าสำคัญจากศรีลังกา อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และกาแฟ ชา เครื่องเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น