เศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ดรรชนีภาคการผลิตขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
ผลสำรวจอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนเมื่อวานนี้เผย กิจกรรมการผลิตของจีนขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนในเดือนมีนาคม ส่งสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แม้ว่าวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคงกดดันเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นเป็น 50.8 คะแนนในเดือนมีนาคม จาก 49.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ชี้ว่าเศรษฐกิจเติบโตขึ้น และสูงกว่าการคาดการณ์เฉลี่ยที่ 49.9 ในการสำรวจของรอยเตอร์
แม้ว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็เป็นค่า PMI ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว หลังเติบโตขึ้นชั่วคราวจากการยกเลิกมาตรการโควิด นอกจากนี้ ข้อมูล PMI ยังแสดงให้เห็นว่า ยอดคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ เพิ่มขึ้นเข้าสู่แดนบวก ทำลายการตกต่ำในรอบ 11 เดือน แม้ว่าการจ้างงานยังคงหดตัว แต่ส่งสัญญาณชะลอตัว
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ดรรชนีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อุปสงค์และอุปทานในประเทศดีขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ซื้อบ้านและภาคธุรกิจกำลังฟื้นตัว ขณะที่ความต้องการในการบริโภคและการลงทุนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดเชิงบวกล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก กำลังกลับมาอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ นักวิเคราะห์ชั้นนำจึงเริ่มอัพเกรดการคาดการณ์การเติบโตในปีนี้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ชิตี้แบงค์ ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับจีนในปีนี้เป็น 5.0 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 4.6 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างถึงข้อมูลเชิงบวกล่าสุด และการออกนโยบายของภาครัฐ โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม รัฐบาลจีนอนุมัติแผนส่งเสริม การอัพเกรดอุปกรณ์รัฐขนาดใหญ่ และกระตุ้นการบริโภค ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้มากกว่า 5 ล้านล้านหยวน (ราว 26 ล้านล้านบาท) ต่อปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจีนเจอปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดความกังวลว่า จีนจะเข้าสู่ภาวะซบเซาแบบที่ญี่ปุ่นเคยเจอ เว้นแต่ผู้กำหนดนโยบาย จะดำเนินการ เพื่อปรับทิศทางเศรษฐกิจไปเน้นการบริโภคในครัวเรือน และการจัดสรรทรัพยากรให้เท่าเทียม และหลีกเลี่ยงการพึ่งพาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนัก เหมือนเช่นในอดีต