9 เช็คลิสต์ "อัลไซเมอร์" เสี่ยงป่วยหรือไม่ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ ต้องระวังถึงตาย ยาย 74 เข้าผิดบ้านถูกสุนัขขย้ำคอ ไม่สามารถเรียกร้องจากเจ้าของได้
ข่าวที่น่าสนใจ
“อัลไซเมอร์” ?
โรค อัล ไซ เมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมอง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ เพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็น อัล ไซ เมอร์ ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
การสะสมของ เบต้า-อะไมลอยด์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อย ๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่น ๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม แบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นตามลำดับ
สัญญาณเริ่มแรก คือ การลืมเหตุการณ์ ลืมการสนทนาหรือกิจวัตรประจำวัน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสีย การตัดสินใจ การวางแผน และการช่วยเหลือตนเอง ปัจจุบันมีวิทยาการในการตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และมีการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสมอง อย่างไรก็ดี ในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการทำงานของสมองเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและอาจเกิดการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้
หลงลืมตามวัย?
ความแตกต่างระหว่าง หลงลืมตามวัย กับ โรค อัล ไซ เมอร์ นั้น หากเป็นการหลงลืมตามวัยแบบทั่วไปแล้ว โดยปกติเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี สมองของเรามักจะถดถอยตามวัย อาจมีการคิดช้า ใช้เวลาในการนึก ตัดสินใจแย่ลง อาจจะเริ่มมีหลงลืม เช่น หากุญแจไม่เจอ จำที่จอดรถไม่ได้ หรืออาจจะนึกชื่อเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน ๆ ไม่ออก แต่เมื่อมีการบอกใบ้ ก็จะสามารถดึงข้อมูลนั้นออกมาได้ ที่สำคัญ คือ ยังช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันได้
แต่หากมีอาการหลงลืมแบบเข้าข่ายโรค อัล ไซ เมอร์ มักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก หรือลืมแล้วลืมเลย ลืมแม้กระทั่งทักษะการใช้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะถึงกับลืมชื่อคนในครอบครัว เช่น เปิดฝักบัวไม่เป็น ลืมวิธีกดรีโมท ซึ่งการเสื่อมของสมองจะค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
สาเหตุ?
โรค “อัลไซเมอร์” เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม วิถีชีวิต และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โรคมักจะเริ่มต้นในส่วนสมองที่ควบคุมความทรงจำ กลไกการเกิดโรคเชื่อว่ามีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น โปรตีน อะไมลอยด์ (amyloid) และ โปรตีน เทาว์ (tau) ผิดปกติในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ สูญเสียการทำงานเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ จนกระทั่งทำให้เซลล์สมองตาย โดยพยาธิสภาพดังกล่าว จะเกิดในส่วนอื่น ๆ ของสมองด้วย ตามลำดับ ทั้งนี้ ระบบการทำงานของสมองมักถูกทำลายก่อนมีอาการแสดง
ปัจจัยเสี่ยง?
- โรค อัล ไซ เมอร์ มักพบในช่วงวัยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาพบว่า จากกลุ่มประชากรทั้งหมด 1,000 คน แต่ละปีในช่วงอายุ 65 ปี ถึง 74 ปี มีการพบผู้ป่วย 2 คน ในช่วงอายุ 75 ปี ถึง 84 ปี มีการพบผู้ป่วย 11 คน และในช่วง 85 ขึ้นไป มีการพบผู้ป่วย 37 คน สนับสนุนว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
- ประวัติครอบครัวและพันธุศาสตร์ กลไกทางพันธุกรรมในครอบครัวส่วนใหญ่ของโรค อัล ไซ เมอร์ ยังคงไม่สามารถอธิบายได้ แต่หากมีประวัติบุคคลคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรค อัล ไซ เมอร์ มากขึ้น
- โรคดาวน์ซินโดรม คนที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมจำนวนมากจะพบภาวะโรค อัล ไซ เมอร์ ร่วมด้วย โดยมีอาการเร็วกว่าคนปกติทั่วไป 10 หรือ 20 ปี สาเหตุหลักเป็นผลจากพันธุกรรมของโครโมโซมคู่ที่ 21
- เพศ ความเสี่ยงระหว่างเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย
- การบาดเจ็บศีรษะอย่างรุนแรง บุคคลที่มีการบาดเจ็บทางศีรษะอย่างรุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อการเป็น อัล ไซ เมอร์
- การนอนหลับที่ผิดปกติ มีงานวิจัยพบเจอว่าบุคคลที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจขณะนอนหลับจะมีความเสี่ยงสูงกับการเป็น อัล ไซ เมอร์
- วิธีการดำเนินชีวิตและโรคร่วม การขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวานประเภท 2 ภาวะความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอล โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ควรพบแพทย์?
ลองมาเช็คลิสต์ความเสี่ยง หลงลืมแบบไหน กำลังเสี่ยงเป็น โรคอัลไซเมอร์ กันดู
- อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
- สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้น ๆ ได้อย่างไร
- จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
- มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำ ๆ
- ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
- มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์ การดูนาฬิกา
- มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
- ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น
- ซึมเศร้า ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
ทั้งนี้ หากมีปัญหาความทรงจำผิดปกติ การตัดสินใจช้าลง บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หรือจากเช็คลิสต์ความเสี่ยงข้างต้นนี้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและวินิจฉัยอย่างละเอียด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง