"เป็นตะคริว" เริ่ม ๆ ยังปวดไม่มาก แต่ยิ่งเป็นนาน จะปวดจนไม่รู้จะทำอย่างไร เช็ค 10 สัญญาณผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม เทคนิคแก้เมื่อเกิดตะคริวระหว่างนอนหลับ
ข่าวที่น่าสนใจ
“เป็นตะคริว” ?
ตะคริว (Muscle Cramps) คือ อาการหดเกร็ง ของกล้ามเนื้ออย่างฉับพลัน โดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ ตะคริวจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งและทำให้รู้สึกปวดจี๊ด เจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง ซึ่งมักรุนแรง แต่จะเป็นเพียง 2 – 15 นาที อาจแค่ช่วงเวลาหนึ่งหรือเพียงชั่วครู่เท่านั้น พอทิ้งไว้สักพักอาการก็จะดีขึ้นได้ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรังอยู่ และจะกินเวลาเป็นวันก่อนจะหายอย่างสมบูรณ์
การเป็น ตะคริว นี้ อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกันก็ได้เช่นกัน ในบางรายอาจมีอาการตะคริวกลางคืน ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขา พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและวัยกลางคน
สาเหตุตะคริว?
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดตะคริว แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้น ๆ มากเกินไป นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่ดี เป็นต้น
ไม่ควรมองข้าม?
ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดตะคริวได้ แต่ก็พอจะบอกคร่าว ๆ ได้ว่า สิ่งเหล่านี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดตะคริว
- การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ซึ่งมักเกิดเมื่อมีอาการท้องเสีย อาเจียน เสียเหงื่อมาก หรือรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรง คือเกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกาย และมักจะเป็นอยู่นาน
- ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็น ตะคริว ได้บ่อย
- หญิงตั้งครรภ์อาจเป็น ตะคริว ได้บ่อยขึ้น เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำ หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
- กล้ามเนื้ออ่อนล้า หรือกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง จากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิดตะคริวได้บ่อย
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
- กล้ามเนื้อขาดเลือด หากออกกำลังกายอย่างหนักโดยที่ไม่ได้วอร์มอัพ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ
- การนอน นั่ง หรือยืน ในท่าที่ไม่สะดวกนาน ๆ ก็ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก และเกิดตะคริวได้เช่นกัน
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็น ตะคริว ขณะที่เดินนาน ๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
วิธีแก้ “เป็นตะคริว” ?
หากเกิดตะคริว ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาบนบก ให้ยืดกล้ามเนื้อ หรือนวดบริเวณที่เป็นตะคริว ประมาณ 1 – 2 นาที หากอาการยังไม่หายดี ให้ค่อย ๆ นวดไปเรื่อย ๆ
หากเกิดตะคริว ขณะว่ายน้ำ ต้องตั้งสติ พยายามทำให้ตัวลอยน้ำอยู่ตลอดเวลา หากเกิดตะคริวที่น่องด้านหลัง ให้หงายตัวขึ้น ใช้มือพยุงน้ำให้ลอย และยกขาขึ้นเหนือน้ำเข้าหาใบหน้า หากเกิดตะคริวหลังขาอ่อน พยายามอยู่ในท่านอนคว่ำ และพับข้อเท้าเข้าหาด้านหลัง หากเกิดตะคริวที่ข้อเท้า นอนหงายและให้เท้าอยู่บนผิวน้ำ แล้วนวด หรือหมุนเบา ๆ ที่ข้อเท้า
หากเกิดอาการเป็น ตะคริว ในขณะที่นอน ให้ยืดกล้ามเนื้อขา โดยยืดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที ทำแบบนี้ 5 – 10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่าจะหาย
หากสตรีตั้งครรภ์เกิดตะคริว ให้ปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอย่างละเอียด และทำการรักษา เนื่องจากอาการตะคริวอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
ป้องกันตะคริว?
สำหรับการป้องกันตะคริวกินนั้น มีข้อแนะนำ ดังนี้
- อบอุ่นร่างกายยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อก่อนเริ่มออกกำลังกาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว หรือ 2 ลิตร
- กินอาหารที่มีแคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เช่น ปลา นม ผักโขม ลูกเกด กล้วยหอม เป็นต้น
- ดื่มนมก่อนนอนเพิ่มแคลเซียมให้กับร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่ตะคริวกินระหว่างนอนตอนกลางคืน
- นอนยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองขาให้ขาสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 นิ้ว
- ฝึกยึดกล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวบ่อย ๆ
- ระมัดระวังการยกของหนัก หรือการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่อง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หลังการรับประทานอาหาร
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 – 60 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7 – 9 ชั่วโมง
จะเห็นได้ว่า โดยส่วนใหญ่ ตะคริว เกิดจากเอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย และเกิดจากโรคหรือการใช้ยาบางกลุ่มที่เป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดตะคริว แม้ตะคริวจะไม่ได้เป็นโรคภัยที่ร้ายแรงมาก แต่ก็สร้างความเจ็บปวดทรมานไม่น้อยเลย อีกทั้งหากเป็นขึ้นมาอย่างกะทันหัน ก็เสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด อย่างการสะดุดล้มหรือหกล้ม ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้อาจนำไปสู่การบาดเจ็บที่ร้ายแรงหรือเสียชีวิตได้ ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง