จากกรณีการหายตัวไปของ ด.ญ.พรศิริ วงศิลารุ่ง หรือ น้องจีน่า วัย 1 ขวบ 11 เดือน ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ในหมู่บ้านห้วยฝักดาบ ม.19 ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อช่วงเที่ยงของวันนี้เจ้าหน้าที่ได้พบตัวน้อง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่9 ก.ย. 2564 ทีมข่าว Top News ได้สอบถามไปยัง รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ถึงข้อห่วงใยต่อสุขภาพของน้องจีน่า โดยระบุว่า มี 2 ส่วนที่จะต้องดูแล คือเรื่องของสุขภาพทางด้านร่างกาย จะต้องมีการตรวจร่างกายว่ามีร่องรอยบาดแผลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ มีสัตว์มีพิษ หรือมด หรือยุง กัดตามตัวหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องตรวจว่าร่างกายขาดน้ำ หรือสารอาหารหรือไม่ น้ำหนักลดลงไปเท่าไหร่ สัญญาณชีพเป็นอย่างไร รวมทั้งอาจจะต้องเจาะเลือดเพื่อดูระดับของเกลือแร่
ขณะเดียวกันจะต้องประเมินภาวะทางจิตใจ ต้องคอยสังเกตว่าเด็กนอนหลับได้มั้ย มีความหวาดผวา ฝันร้าย ลุกขึ้นกลางดึกมั้ย ร้องไห้ หรือยังมีอาการตื่นตระหนกตกใจบ้างมั้ย เพราะตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา เด็กเจอทั้งสภาพป่า ทั้งฝนตก เรียกได้ว่าเด็กเจอวิกฤตชีวิต ทำให้เกิดความรู้สึกที่แย่ ดังนั้นพ่อและแม่คือคนที่จะให้ความรักความอบอุ่นและความปลอดภัยให้กับเด็กมากที่สุด ในช่วงนี้จึงถือว่าจำเป็นมากที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับเด็กตลอดเวลา เพื่อเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจ
เมื่อถามว่าเด็กวัยนี้สามารถรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน คุณหมอบอกว่า ธรรมชาติของเด็กวัย 2 ขวบ จะมีความวิตกกังวลเรื่องการพลัดพรากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการแสดงออกไปทางอารมณ์ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเก็บกด นิ่งเงียบ ถดถอย ขณะที่บางคนอาจจะแหกปากร้องเลย ดังนั้นภาวะวิตกกังวลมีอยู่แล้ว
บาดแผลทางใจเกิดขึ้นแน่ แต่ภาวะการจดจำในระยะยาวอาจจะไม่มี เพราะเด็กในวัยขวบเศษ เมื่อเติบโตขึ้นไปกลายเป็นวัยรุ่นอาจจะลืมๆ ไป ถามว่าค้างคาใจมั้ย ขึ้นอยู่กับว่าหลังจากนี้เด็กจะเจอกับสภาพแวดล้อมอย่างไร ครอบครัวรักและอบอุ่นหรือไม่อย่างไร เพราะแม้ว่าในอนาคตเด็กมีคำถามขึ้นมาถึงเรื่องในอดีต พ่อแม่ก็จะใช้ความรักความเข้าใจอธิบายบนความปกป้องซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นแบบนี้บาดแผลใจจะไม่เกิดขึ้นมากเท่าไหร่