วุฒิสภากัมพูชาลงมติเป็นเอกฉันท์ เลือก สมเด็จ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวุฒิสภา ในการประชุมนัดแรกเมื่อวานนี้ ( 3 เมษายน ) ประธานวุฒิสภาเป็นตำแหน่งในทางพิธีการมากกว่าบทบาททางการเมือง แต่จะทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทน หรือรักษาการประมุขของประเทศ ในยามที่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ
สมเด็จฮุน เซน กล่าวขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาที่ให้ความไว้วางใจ และกล่าวต่อว่า เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งตำแหน่งนี้ และจะใช้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูต
โอ วิรัก นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชา กล่าวว่า วุฒิสภากัมพูชา ไม่ใช่องค์กรทรงอิทธิพลทางการเมืองหรือนิติบัญญัติก็จริง แต่ก็เป็นตำแหน่งเชิงพิธีการสูงสุุด และเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสูงสุดของประเทศ เนื่องจากพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศบ่อยครั้ง การรับตำแหน่งประธานวุฒิสภาของฮุน เซน จึงมีความสำคัญ และเป็นสัญลักษณ์อย่างมาก นักวิเคราะห์ท่านนี้กล่าวว่า สำหรับกัมพูชาแล้ว สัญลักษณ์มีอยู่ในทุกเรื่องและทุกหนแห่ง
สมเด็จ ฮุน เซน วางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อสิงหาคม 2566 หลังจากผูกขาดอำนาจมานาน 40 ปี ก่อนส่งไม้ต่อให้ ฮุน มาเน็ต บุตรชายคนโต หลังได้รับชัยชนะถล่มทลายจากการเลือกตั้งที่จัดแบบไม่มีฝ่ายค้านลงแข่งอย่างมีนัยสำคัญ
การนั่งตำแหน่งประธานวุฒิสภา ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของการเห็น ฮุน เซน รวบอำนาจทั่วทั้งรัฐบาล ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีกัมพูชาประกอบด้วยเครือญาติของฮุน เซนหลายคน รวมถึง ฮุน มานี ลูกชายคนเล็กสุด เป็นรองนายกรัฐมนตรี และลูกหลานของบรรดาพันธมิตรก็มีตำแหน่งสำคัญ
สำหรับวุฒิสภากัมพูชา มีทั้งหมด 62 ที่นั่ง จำนวนนี้ 58 ที่นั่ง มาจากการออกเสียงเลือกของ ส.ส. 125 คน และสมาชิกผู้บริหารท้องถิ่นกว่า 1 หมื่น 1 พันคน ที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ ซีพีพี ของสมเด็จฮุนเซน ที่เหลืออีก 4 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์กัมพูชา และรัฐสภา
ในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ปรากฏว่า พรรค ซีพีพี ได้รับเลือก 55 จากทั้งหมด 58 ที่นั่ง ส่วนอีก 3 ที่นั่งที่เหลือ เป็นของพรรคฉันทะเขมร
ภาพปก Samdech Hun Sen of Cambodia