นักวิจัยเตือน จำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่ทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เพราะประชากรอายุยืนขึ้น แนะนำรัฐเตรียมรับมือ ส่งเสริมตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ
เดอะแลนซิต วารสารการแพทย์ชื่อดังระดับโลก เผยแพร่รายงานในวันนี้ว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่ทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านรายในปี 2563 เป็น 2.9 ล้านรายภายในปี 2583
นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวโดยอ้างอิงจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น มีความเชื่อมโยงกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของพีระมิดอายุทั่วโลก ซึ่งเมื่ออายุขัยเฉลี่ยในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มยืนยาวขึ้น จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นเช่นกัน
เนื่องจาก มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่แพร่หลายที่สุดในผู้ชาย โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของโรคมะเร็งในเพศชาย ส่วนใหญ่จะเกิดหลังอายุ 50 ปี และผู้ชายที่มีอายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่ค้นพบสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
สำหรับคำแนะนำ นักวิจัยแนะให้ หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา สนับสนุนให้มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากโรคนี้มักไม่แสดงอาการ และมักได้รับการวินิจฉัยช้าเกินกว่า จะให้การรักษาที่มีประสิทธิผล
ส่วนสถานการณ์มะเร็งต่อมลูกหมากในไทยนั้น นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เคยกล่าวไว้ในเดือนสิงหาคม 2565 ว่า มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย และมีรายงานผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่ประมาณ 3 พัน 700 รายต่อปี หรือมีอุบัติการณ์ 7.7 รายต่อประชากร 1แสนคน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 1 พัน 700 รายต่อปี