จับตาวันนี้ "ก้าวไกล" ประชุมพรรคหาทางหนีตายคดียุบพรรค คาด "พิธา" ยกธงขาวไม่หวนคืนกุมบังเหียนพรรคส้ม ให้ "ชัยธวัช" รั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรคต่อไป
ข่าวที่น่าสนใจ
รายงานข่าวจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แจ้งว่า บรรยากาศก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคก้าวไกล ประเด็นที่ต้องจับตา คือ การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ที่จะหมดวาระตามวงรอบ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2566 แกนนำพรรค วางแนวทางไว้ ว่า จะให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง หากสถานการณ์ของคดีในศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คดี ได้แก่ คดีหุ้นไอทีวี และคดีล้มล้างการปกครอง จากนโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พรรคก้าวไกลรอด
คาด “ก้าวไกล” ถกเครียดหาทางหนีตายคดียุบพรรค
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากกระทำความผิดตามมาตรา 92(1) และ (2) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฐานกระทำการล้มล้างการปกครองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เสนอประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ล่าสุด วันนี้ (13 มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประเมินว่า
1. ศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะใช้เวลาในการวินิจฉัย ไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากแทบไม่ต้องไต่สวนใหม่ แต่อาจมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเพิ่มเติมได้
2. คำร้องยุบพรรค เป็นการยุบจากกรณีพรรคการเมืองกระทำความผิด มาตรา 92(1) และ (2) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกระทำการล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ซึ่งนอกจากยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคมีโทษถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วย
3. กรรมการบริหารที่ถูกตัดสิทธิ คือ กรรมการบริหารตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 20 ที่มีตำแหน่ง หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรคอื่นๆ รวม 10 คน (ไม่มีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค)
4. ส่วนกรณี 44 ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 นั้นไม่เกี่ยวกับกรณียุบพรรค แต่เป็นการร้อง ป.ป.ช.กรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1) ซึ่งหาก ป.ป.ช.ลงมติว่าผิด ต้องส่งศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หากศาลประทับรับฟ้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากศาลว่าผิด มีโทษ ตามมาตรา 235 วรรคสาม ให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ตั้งแต่วันยุติปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตและอาจจะพ่วงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
5. ขั้นตอนในขั้น ป.ป.ช.ถึง จบศาลฎีกา น่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี และไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะอยู่พรรคใหม่ใด ถ้าผิดก็ถือว่าผิดครับ
เชื่อ “ชัยธวัช” รั้งหัวหน้าพรรคต่อรอประเมินสถานการณ์คดียุบพรรค
แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคดีในศาลรัฐธรรมนูญ 2 คดี รอดพ้นไปเพียง 1 คดีเท่านั้น คือกรณีหุ้นไอทีวี แต่คดีล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน จะมีคำวินิจฉัยออกมาเชื่อว่าไม่น่ารอด จึงเป็นไปได้ว่าการคัดสรรกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 6 เม.ย.นี้ คาดว่าส่วนใหญ่จะเหมือนเดิม โดยมีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคต่อเพื่อประเมินสถานการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง