สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้ นางแนนซี เปโลซี สมาชิกพรรคเดโมแครต และเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นคนหนึ่ง ที่ใกล้ชิดประธานาธิบดีโจ ไบเดนเป็นอย่างมาก ได้ร่วมกับสมาชิกพรรคอีก 36 คน ลงนามในจดหมายถึงไบเดน และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ โดยภายในจดหมายระบุว่า การโจมตีเมื่อเร็วนี้ ต่อเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ รวมถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ เราจึงเห็นว่า การอนุมัติจัดสิ่งอาวุธเหล่านี้ถึงอิสราเอล เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม หากพบว่าการโจมตีครั้งนี้ละเมิดกฎหมายของสหรัฐหรือกฎหมายระหว่างประเทศ เราขอแนะนำให้ระงับการจัดส่งอาวุธเหล่านี้ต่อไป จนกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะแสดงความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ในจดหมายยังมีการเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของไบเดน ทำการสอบสวนถึงการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ 7 คนขององค์กรการกุศลเวิลด์ เซ็นทรัล คิทเช่น (หรือ WCK) ต้องถูกสังหารด้วย ซึ่งสำหรับการลงนามครั้งนี้นั้น ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า มุมมองดังกล่าวกำลังกลายเป็นกระแสหลักในพรรคมากขึ้นเรื่อยๆ และก่อนหน้านี้ หลังจากที่เกิดเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว เปโลซีก็ได้มีคำแถลงออกมาทันทีด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอลต้องอนุญาตให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือช่วยชีวิตไปยังครอบครัวผู้บริสุทธิ์ในฉนวนกาซาให้ได้ตลอด และรับรองว่า ผู้ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือมีเส้นทางที่ปลอดภัย ความหิวโหยไม่สามารถกลายมาเป็นอาวุธสงครามได้
ขณะเดียวกัน ทางด้านของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ทำการลงมติเรียกร้องให้นานาประเทศ หยุดขายหรือจัดส่งอาวุธให้กับอิสราเอล โดยสมาชิกทั้ง 47 ประเทศ ได้ลงมติเห็นชอบมติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 28 ต่อ 6 เสียง ส่วนผู้งดออกเสียงมีอยู่ 13 เสียง ทั้งนี้ คะแนนเสียงของประเทศพันธมิตรตะวันตกนั้น เป็นไปในแบบที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐและเยอรมนี คัดค้านมตินี้ ด้านฝรั่งเศสและญี่ปุ่นงดออกเสียง ขณะที่เบลเยียม ฟินแลนด์ และลักเซมเบิร์กลงมติเห็นชอบ
หลังการลงมติดังกล่าวผ่านไปนางเมราฟ ไอลอน ชาฮาร์ ผู้แทนถาวรของอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้ทำการประท้วงมตินี้ โดยระบุว่า ตนรู้สึกผิดหวังกับบรรดาประเทศยุโรป และตนจะไม่เข้าร่วมการประชุมที่เหลือของวัน มติดังกล่าวคือรอยเปื้อนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติโดยรวม สภานี้ได้ละทิ้งและเมินการกระทำที่ร้ายแรงต่อประชาชนอิสราเอล แต่ไปปกป้องกลุ่มฮามาสมาเนิ่นนาน ซึ่งได้กลายเป็นเกราะกำบังสำหรับผู้ก่อการร้ายไปแล้ว
ทั้งนี้ แม้ว่าการลงมติดังกล่าวจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แต่มติดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันจากนานาประเทศต่ออิสราเอล อันเป็นสัญญาณของความกังวลอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา