ย้อนไปเมื่อปี 2556 ความพยายามของฝ่ายตรงข้าม ที่ไม่พึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้มีแกนนำออกมาหยิบยกประเด็นจุดบอดต่างๆ นำข้อมูลโจมตี ปลุกระดมประชาชนที่คิดเหมือนกันพยายามออกมาประท้วงขับไล่เป็นระยะๆ ทว่าไม่มีผลกระทบใดๆ กับความแข็งแกร่งและเสียงข้างมากที่คอยสนับสนุนรัฐบาลยุคนั้น สมัยนั้น … กระทั่งท้ายที่สุด เมื่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามชูร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง“…..และนั่น คือจุดเริ่มต้นของการจุดไฟเผาตัวเอง
• ร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย”
พ.ร.บ.ดังกล่าว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” …. จุดพลิกผันสู่การประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่เสนอโดย “นายวรชัย เหมะ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เนื่องมาจากร่าง พ.ร.บ. ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 นั้น เป็นร่างที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมของนายวรชัย เหมะ ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังจากคดีเผาศาลากลางจังหวัดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกอบด้วย 7 มาตรา คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลได้แก้ไขมาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย ทั้ง “ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่าย นปช.” ที่สำคัญยังรวมถึง “ดร.ทักษิณ ชินวัตร” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งกรณีหลังนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 พรรคฝ่ายค้าน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งแกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คดีอาญา “ฆ่า-เผา” และ “ผู้ทุจริตคอร์รัปชัน” รวมไปถึงการพา ทักษิณ กลับเข้ามาอยู่บ้านเกิดในเมืองไทย
• มวลชนเสื้อแดงเสียงแตก – พรรคเพื่อไทย ทะเลาะกันเอง
ถึงได้บอกไงว่า ถ้าไม่มี พ.ร.บ.สุดซอย รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดสู่การยุบสภาฯ เพราะนอกจากจะทวีคูณความไม่พอใจให้ฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังทำให้คนเสื้อแดง หรือประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด มีการแบ่งแยกแตกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยเหตุผลที่ว่า 1.กลุ่มคนเห็นด้วย (สนับสนุนเพื่อไทย) ต้องการจะเคลียร์ทุกอย่างทางการเมืองให้เป็นศูนย์ เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ คนที่เคยรับโทษทุกฝั่งฝ่าย หลุดพ้นจากคดี และเดินทางประเทศไทยต่อ ด้วยความมุ่งหวังที่ว่า ประเทศชาติจะพัฒนาขับเคลื่อนไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
2.กลุ่มคนไม่เห็นด้วย (สนับสนุนเพื่อไทย) รู้สึกไม่พอใจที่ออก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสนับสนุนให้ล้างโทษของนักการเมืองที่มีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนเมื่อกลางปี 2553 รวมไปถึงการล้างโทษให้พวกที่เผาบ้านเผาเมือง คนกลุ่มนี้ถึงแม้จะมีใจสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ก็ได้ออกมาแสดงสัญลักษณ์การต่อต้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านทางโลกโซเชียล และต้องการให้ยับยั้งการนิรโทษกรรมคนผิดทั้งหมด
• ปลุกพลังก่อกำเนิดมวลมหาประชาชน ขับไล่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์
ปัญหาเริ่มบานปลายขึ้น เมื่อกลุ่มคนที่คัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ออกมารวมตัวกันตามคำเชิญชวนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จนก่อเกิดเป็นม็อบ กปปส. หรือ ม็อบนกหวีด หรือ “มวลมหาประชาชน” และหลังจากนั้น แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 เพราะต้านกระแสการชุมนุมไม่ไหว และได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 การต่อต้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” ก็ได้ยกระดับเป็นปฏิบัติการขับไล่รัฐบาล นำโดย 8 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ “ถอดสูท-ทิ้งสภา-เดินหน้าสู่ถนน” นำมวลชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กปปส.) ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาชุมนุมขับไล่ต่อเนื่อง
• “ลุงกำนัน” รวมพล “คนเกลียดทักษิณ” ไม่เอาตระกูล “ชินวัตร”
หลายคนออกตัวก่อนเลยว่า พวกเค้าไม่ได้ฝักใฝ่เลือกข้างพรรคประชาธิปัตย์ แต่ที่ออกมารวมตัวกัน เพราะไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการออก พ.ร.บ.เหมาเข่ง สุดซอย รู้สึกเหมือนเป็นการเอื้อผลประโยนช์ของตัวเองมากกว่าต้องการทำเพื่อส่วนรวม เหมือนว่าอยากจะพานายกฯ ทักษิณกลับเข้าเมืองไทย จนเกิด พ.ร.บ.สุดซอยขึ้นมารองรับ … กลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน และคนไม่เอาทักษิณ ออกมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยโบกสะบัดธงชาติไทยมีสัญลักษณ์ลายธงชาติผูกติดบนศีรษะ หรือประดับตกแต่งตามร่างกาย เป่านกหวีดขับไล่กันครึกครื้น ไม่ต่างกับม็อบกู้ชาติเมื่อปี 2548-2549
• กปปส. เดินเกมรุก กดดันทุกทาง ขัดขวางเลือกตั้ง
กลุ่มแกนนำ กปปส. ได้นัดรวมตัวออกมาชุมนุม สร้างความปั่นป่วน กดดันด้วยยุทธวิธีเชิงรุก ตั้งแต่การเข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง เปิดปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ”, ตั้ง 7 เวทีชุมนุมใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ไปจนถึงการปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง มีการนำมวลชนไปนั่งขวางทางประชาชนที่เดินทางเข้าไปใช้สิทธิ์ เกิดปัญหาบานปลายทำลายสถานที่เลือกตั้ง และกระทบกระทั่งกันเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งปี 2557 ต้องกลายเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม การออกมากดดันดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นการยั่วยุฝ่ายรัฐบาล ประหนึ่งต้องการให้ทหารออกมายุติเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดเอาไว้
•22 พ.ค. 57 “พลเอกประยุทธ์” ยึดอำนาจการปกครอง
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ให้เหตุผลในการทำรัฐประหารว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นห่วงคือเราไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหากันต่อไป หรือมีความขัดแย้งต่อไปโดยที่ไม่มีทางออกได้ ซึ่งต้องเริ่มที่ตัวของตนเองก่อน คือพร้อมทำทุกอย่างให้เกิดความสันติสุขโดยเร็ว ทุกท่านให้เกียรติกองทัพ และการประกาศกฎอัยการศึกนั้น คิดว่าหลายท่านมีข้อขัดแย้ง แต่เรียนว่าจะทำอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้เกิดความสงบสุข และไม่ต้องมากังวลแทนตนเพราะไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร
“ผมรับผิดชอบทุกประการ เพราะผมเป็นคนที่เกิดในแผ่นดินนี้ เป็นหนี้แผ่นดินนี้ ก็จำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ และพยายามใช้อำนาจความมั่นคงเป็นหลัก แต่มีความเกี่ยวพันกันในหลายมิติ หากก้าวล่วงอะไรไปบ้างหรือใช้อำนาจอะไรไปบ้างต้องขออภัย อย่างไรก็ตาม ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ”
วันที่ 22 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. , พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. , พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ
“ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเขาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป”
•จับตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเข้าทางโจร
จากนี้ไปอย่าพลาดสายตาหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองล่าสุด หลังพรรคพลังประชารัฐต้องการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบการเลือกตั้ง โดยจะมีการโหวตวาระ 3 ในวันที่ 10 ก.ย.2564 จากบัตรใบเดียวใช้วิธีคิดคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ถอยหลังเข้าคลองกลับไปใช้วิธีเลือกตั้งแบบเก่า ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ท่ามกลางความเป็นห่วงกังวลของหลายคน ว่าอาจจะหลงเหลี่ยมอำนาจเก่ากลายเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าทางโจร เปิดโอกาสให้นายทักษิณนักโทษหนีคดีได้กลับบ้านสมความตั้งใจ ปูทางให้พรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจเข้ามาฮุบประเทศอีกครั้ง ที่นั้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นความวุ่นวายรอบใหม่ และอนาคตอาจทำให้บ้านเมืองกลับมาลุกเป็นไฟไม่จบสิ้น