จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน กทม. ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายสร้างโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอยเพื่อรองรับผู้ป่วย อีกทั้งยังบังคับใช้กฎหมายล็อคดาวน์หลัง เวลา 21.00 – 04.00 น. เพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น จนทำให้ยอดผู้ป่วยรายวันได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นยังไม่ได้หายจากไปในทีเดียว ต้องเฝ้าระวังไม่ให้การ์ดตกจนเกิดคาสเตอร์ใหม่ขึ้นอีกรอบ
ทีมข่าวท็อปนิวส์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์พักคอยในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าส่วนใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วยไม่มากนัก จึงโทรศัพท์ไปสอบถาม ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สถานการณ์ในตอนนี้ผู้ติดเชื้อใน กทม. ยังทรงตัวอยู่ ที่ผ่านมายอดสูงสุดอยู่ประมาณ 5,000 ราย/วัน ตอนนี้อยู่ที่ 3,000 -สามพันปลายๆ ต่อวัน ทาง กทม. ได้พยายามควบคุมมาตรการให้มีความเข้มข้นบวกกับการฉีดวัคซีนและควบคุมวงจรระบาดให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนสถานการณ์ของโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม. แต่ละแห่งมีการครองเตียงลดลง เหลือประมาณ 50-60% ทำให้ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง เข้าพักรักษาได้มากขึ้น
สำหรับศูนย์พักคอยในพื้นที่ กทม.มีเตียงทั้งหมดอยู่ที่ 1 หมื่นเตียง แต่จากการตรวจสอบยอด ณ วันที่ 9 กันยายน มีผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในศูนย์พักคอยประมาณ 2 พันเตียง ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมกันแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาตัวอยู่ที่ศูนย์พักคอยลดลง แต่ทาง กทม. ยังจะคงเตียงที่มีอยู่ไว้ และไม่เอาอุปกรณ์ ต่าง ๆ ออก เพราะต้องเตรียมการเผื่อการรองรับหากมีสถานการณ์ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งต้องการมีการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด แต่ในส่วนที่ในศูนย์พักคอยจุดไหนไม่มีผู้ป่วยหรือผู้ป่วยน้อย ก็จะรวบไปอยู่เป็นจุดๆ และเอาบุคลากรออก หากเกิดสถานการณ์การระบาดใหม่ ก็เพียงแค่นำบุคลากรเข้าไปประจำศูนย์พักได้เหมือนเดิม
ด้าน พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามลดลง เนื่องจากยอดผู้ป่วยรายวันกลับบ้านได้มากกว่าเข้า แต่ก็ยังมีผู้ป่วยเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ รพ.สนาม ทุกที่ตอนนี้คิดว่ารับมือได้แล้ว เราจึงต้องดึงบุคลากรทางการแพทย์ กลับเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลตามปกติ ไม่ถึงกลับเลิกจ้าง งานที่ทำก็จะเหนื่อยน้อยลงกว่าเดิม แต่หากเกิดสถานการณ์โควิดระบาดอีกรอบเราก็ออกมาสู้ใหม่ เพียงแค่นำบุคลากรทางการแพทย์นั้นกลับไปยังที่โรงพยาบาลสนามตามเดิมอีกครั้ง เริ่มเร็วให้ทันสถานการณ์ทันเหตุการณ์ เลิกให้เร็วเมื่อสถานการณ์สิ้นสุด