หลังจากที่นิการากัว ยื่นเรียกร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (หรือ ICJ) แห่งกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้ออกคำสั่งฉุกเฉินถึงเยอรมนี หยุดความช่วยเหลือทางทหารเช่นการค้าอาวุธแก่อิสราเอลทันที พร้อมระบุว่า เยอรมนีได้ละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยยังคงให้ความช่วยเหลือแก่อิสราเอลต่อไป แม้จะตระหนักดีว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในเรื่องนี้ ทางด้านของเยอรมนี ก็ได้ออกมาตอบโต้กลับในวันต่อมา ต่อหน้าผู้พิพากษาที่ศาล ICJ โดยนางทาเนีย ฟอน อุสลาร์-ไกลเคิน ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี กล่าวว่า คดีของนิการากัวดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และอยู่บนพื้นฐานของมูลเหตุหลักฐานที่ไม่ชัดเจน การส่งออกอาวุธนั้นได้รับการตรวจสอบจนแน่ใจแล้วว่า ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เยอรมนีพยายามอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินไปตามความรับผิดชอบ ทั้งต่ออิสราเอลและปาเลสไตน์
ฟอน อุสลาร์-ไกลเคินกล่าวต่อว่า เยอรมนีก็เป็นผู้บริจาครายใหญ่รายหนึ่งของปาเลสไตน์ แต่ความมั่นคงของอิสราเอลก็เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับเยอรมนี เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ของการสังหารหมู่ชาวยิวจากนาซี ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเยอรมนีได้เรียนรู้จากอดีต อดีตที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่น่ากลัวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ด้านนายคริสเตียน แทมส์ ทนายความของเยอรมนี ก็ได้กล่าวต่อศาลว่า เยอรมนีทำงานร่วมกับพันธมิตรจำนวนนับไม่ถ้วนผ่านเส้นทางต่างๆ โดยไม่ละเลยที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความร่วมมือนี้ (หรือกฏหมายฉบับแก้ไขระหว่างเยอรมนีและอิสราเอล) ก็ตั้งอยู่บนกรอบกฎหมายที่แข็งแกร่ง ซึ่งประเมินคำขอใบอนุญาตส่งออกเป็นแต่ละกรณีไป เรารับประกันได้ถึงการปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศของเยอรมนีด้วย
แทมป์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากเราดูสิ่งที่ได้รับใบอนุญาตให้ส่งออกไปยังอิสราเอลได้จริง ภายใต้กรอบการทำงานนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 เราจะไม่เห็นการส่งกระสุนใหญ่เลย โดยการส่งออกเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่ายุทโธปกรณ์ทางทหาร ที่อยู่ในระดับของการป้องกัน เช่น เสื้อกั๊ก หมวกกันน็อค และกล้องส่องทางไกล เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ทางนางแอนนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี ก็ได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่า เราได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่า เราผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่แสดงถึงสิทธิของทุกรัฐในการป้องกันตนเอง ซึ่งหมายความว่าอิสราเอล มีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ใน โลก อย่างไรก็ดี รัฐบาลเยอรมนีก็ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนเสมอว่า รัฐบาลอิสราเอลจะต้องแยกแยะระหว่างผู้ก่อการร้ายกลุ่มฮามาสกับประชาชนพลเรือน และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาด้วย
สำหรับเยอรมนีนั้น ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแรงที่สุดของอิสราเอล นับตั้งแต่การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว รวมถึงเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ที่สุดด้วย และเมื่อครั้งที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ทำการลงมติเรียกร้องให้นานาประเทศ หยุดขายหรือจัดส่งอาวุธให้กับอิสราเอล เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วนั้น เยอรมนีก็ได้คัดค้านมตินี้ ร่วมกับสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการขัดแย้งกับประเทศยุโรปอื่นๆ ที่ส่วนมากแล้ว ต้องการให้หยุดส่งอาวุธไปยังอิสราเอล