วันที่9 ก.ย. 2564 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำ นายมนตรี เกตุจรัส ผู้ประกอบกิจการรถยนต์จดประกอบ เดินทางมายัง กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้าร้องต่อ พนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อให้สืบสวนขยายผล กรณีที่นายมนตรี ถูกเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ บุกค้น และอายัดรถหรูไป 37 คัน เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนจะคืนรถยนต์ของกลางบางส่วนกลับมาเพียง 8 คัน และจนถึงขณะนี้ ดีเอสไอ ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า กรณีของ ดีเอสไอ มีลักษณะคล้ายเครือข่ายของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีต ผกก.โจ้ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากคดีที่ ดีเอสไอ รับผิดชอบสอบสวนเรื่องรถยนต์หรู และพบว่า มีไฟไหม้รถยนต์หรู จำนวน 6 คัน ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จากนั้น ดีเอสไอ ตั้งเรื่องเป็นคดีพิเศษ เพื่อขยายผลตรวจสอบรถยนต์หรูทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณทำคดีมากถึง 1,400 ล้านบาท หรือ ตกคันละ 2 แสนบาท
นายอัจฉริยะ ยังอ้างว่า พฤติการของดีเอสไอ คล้ายกับ กรณีของ อดีต ผกก.โจ้ คือ มีการดำเนินการเพื่อหวังเงินรางวัลนำจับที่สูงถึง ร้อยละ 55 โดยแอบอ้างปั้นสายลับ เป็นผู้ให้ข้อมูลนำจับ เพื่อให้เข้าเงื่อนไข ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มารตรา 27 ที่ระบุว่า ต้องเป็นการนำเข้ารถมาทั้งคัน ไม่ใช่การแยกชิ้นมาประกอบ
แต่กรณีของ ดีเอสไอ ไม่เข้าเงื่อนไข เพราะคดีของดีเอสไอ จับผู้นำเข้าชิ้นส่วนที่มีการเสียภาษีเรียบร้อยแล้ว และมาจดประกอบรถยนต์ โดยเฉพาะของกรณีของ นายมนตรี เสียภาษีถูกต้องตามขั้นตอนทั้งหมด จึงไม่เข้าเงื่อนไข ดังนั้น จึงมีความพยายามตั้งงบการดำเนินคดี คันละ 2 แสนบาท รวมทั้ง 7,000 คัน เป็นเงินกว่า 1,400 ล้านบาท และมีการขยายผลตรวจค้นโรงงานจดประกอบรถหรูทั่วประเทศ จำนวน 6 จุด ซึ่งรวมถึงโรงงานของ นายมนตรี ด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้ผู้เสียหายทั้งหมดที่โดนยึดรถยนต์หรูไว้ ยังไม่ได้รถคืนและดีเอสไอ ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้
ขณะที่ นายมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเองเสียภาษีชิ้นส่วนอย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องการนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่ ก็มีการเสียภาษีถูกต้องเช่นกัน แต่เมื่อ ดีเอสไอ เข้ามาอายัด และอ้างว่า ไม่มีการเสียภาษีชิ้นส่วนถูกต้อง จึงไม่เป็นความจริง และมีหลักฐานเอกสารการจ่ายภาษีครบทุกขั้นตอน ที่ผ่านมา เคยชี้แจงไปที่ ดีเอสไอ แต่ไม่คืบหน้า และ ดีเอสไอ คืนรถยนต์กลับมาให้จำนวน 8 คัน และยังอายัดไว้อีก 28 คัน
เบื้องต้น พนักงานสอบสวน ปปป. รับเรื่องราวไว้สอบสวน โดยเตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง
ทั้งนี้ นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า สัปดาห์หน้า จะมาเปิดเผยกรณีกรมราชทัณฑ์ ตบทรัพย์ผู้ต้องหาและการทุจริตของดีเอสไอ ที่ไปตบทรัพย์ผู้ประกอบการ กว่า 300 ล้านบาท พร้อมหลักฐานและผู้เสียหาย เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า ดีเอสไอ เป็นหน่วยงานลวงโลก มีการคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬาร