หลังจากที่เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อิสราเอลได้โจมตีไปที่สถานกงสุลอิหร่านที่อยู่ในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย จนทำให้ผู้บัญชาการอาวุโสและเจ้าหน้าที่ทหารของอิหร่านเสียชีวิตไป 7 ราย ทางอิหร่านจึงได้ขู่ว่า เหตุการณ์นี้จะต้องถูกเอาคืนแน่ ล่าสุด ทางนิวยอร์กไทมส์ สื่อดังของสหรัฐ ได้ทำการประเมินความสามารถทางทหารของอิหร่านออกมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน กับการโจมตีกลับอิสราเอล
ตามการประเมินประจำปีในปีที่แล้วโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์และการศึกษา ระบุว่า กองทัพอิหร่านเป็นหนึ่งในกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มีกำลังประจำการอย่างน้อย 580,000 นาย และกำลังสำรองที่ได้รับการฝึกอบรมอีกประมาณ 2 แสนนาย แบ่งออกเป็นกองทัพดั้งเดิมและกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ ทั้งนี้ กองทัพและหน่วยพิทักษ์ต่างก็มีกองกำลังภาคพื้นดิน ทางอากาศ และกองทัพเรือแยกจากกัน
นอกจากนี้ กองกำลังรักษาดินแดนยังมีปฏิบัติการกองกำลังคุดส์ ซึ่งเป็นหน่วยรบหัวกะทิที่รับผิดชอบด้านการติดอาวุธ การฝึกอบรม และการสนับสนุนเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธตัวแทนต่างๆ เช่นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน, กลุ่มฮูตีในเยเมน, กลุ่มติดอาวุธในซีเรียและอิรัก, และญิฮาดอิสลามของกลุ่มฮามาสและปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งแม้ว่ากองกำลังติดอาวุธตัวแทน จะไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังติดอาวุธของอิหร่าน แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า พวกเขาถือเป็นกองกำลังพันธมิตรในภูมิภาค ที่พร้อมรบ มีอาวุธหนัก และภักดีตามอุดมการณ์ รวมถึงอาจช่วยเหลืออิหร่านได้หากถูกโจมตี
สำหรับอาวุธของอิหร่านนั้น เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ยุทธศาสตร์ทางทหารของอิหร่าน ยึดหลักในการป้องกัน โดยจะเน้นการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล โดรน และระบบการป้องกันทางอากาศที่มีความแม่นยำ อิหร่านมีคลังขีปนาวุธและโดรนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธต่อต้านเรือ ตลอดจนขีปนาวุธพิสัยไกลถึง 2 พันกิโลเมตร ขีดความสามารถของมันสามารถโจมตีเป้าหมายใดๆก็ได้ ในตะวันออกกลาง รวมถึงอิสราเอลด้วย
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อิหร่านได้รวบรวมโดรนพิสัยไกลจำนวนมาก ซึ่งโดรนเหล่านี้ สามารถบินต่ำเพื่อหลบเลี่ยงเรดาร์ได้ โดยอิหร่านก็หวังที่จะสร้างธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ด้วย ขณะที่ฐานทัพและสถานที่จัดเก็บของประเทศก็กระจายอยู่ทั่วๆไป รวมถึงฝังลึกลงไปใต้ดิน และเสริมด้วยการป้องกันทางอากาศ ทำให้ยากต่อการทำลาย
ก่อนหน้านี้ อิหร่านเผชิญการคว่ำบาตร ที่ตัดอิหร่านจากอาวุธเทคโนโลยีขั้นสูง และอุปกรณ์ทางทหารที่ผลิตในต่างประเทศ เช่น รถถังและเครื่องบินรบ จนในปี 1989 หลังเสร็จสงคราม 8 ปีของอิหร่านและอิหร่านไปได้ 1 ปี อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้มอบหมายให้หน่วยพิทักษ์พัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศ และทุ่มทรัพยากรให้กับความพยายามดังกล่าว เพราะต้องการให้แน่ใจว่า อิหร่านจะไม่ต้องพึ่งพามหาอำนาจจากต่างประเทศ เพื่อความต้องการด้านการป้องกันอีกต่อไป ปัจจุบัน อิหร่านผลิตขีปนาวุธและโดรนจำนวนมากในประเทศ และให้ความสำคัญกับการผลิตด้านการป้องกันด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าเรือดำน้ำขนาดเล็กจากเกาหลีเหนือ แต่ก็ขยายและปรับปรุงกองเรือที่ผลิตในประเทศให้ทันสมัยไปด้วย
สำหรับจุดอ่อนของกองทัพอิหร่านนั้น อยู่ที่กองทัพอากาศ เพราะเครื่องบินส่วนใหญ่ของประเทศ มีอายุตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาห์ โมฮัมเหม็ด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งเป็นผู้นำอิหร่านตั้งแต่ปี 1941 ถึง 1979 มีเครื่องบินหลายลำถูกปิดการใช้งานเนื่องจากขาดอะไหล่ ทั้งนี้ กองทัพของอิหร่านถูกมองว่า เป็นหนึ่งในกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค ในแง่ของยุทโธปกรณ์, การทำงานร่วมกัน, ประสบการณ์, และคุณภาพของบุคลากร แต่ก็ยังตามหลังอำนาจและความซับซ้อนของกองทัพของสหรัฐ อิสราเอล และบางประเทศในยุโรปอยู่อีกมาก