"นิ้วขาด" เรื่องสยองที่ไม่อยากให้เกิด แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องรีบตั้งสติ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สำคัญไม่แพ้ 4 ข้อการเก็บรักษาส่วนที่ขาด ทำการต่อคืนกลับมาได้
ข่าวที่น่าสนใจ
“นิ้วขาด” 2 นิ้ว
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้เข้าตรวจสอบอุบัติเหตุถังน้ำหล่นใส่คนได้รับบาดเจ็บ ที่บริเวณฝั่งตรงข้ามซอยด่านสำโรง 11 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ที่เกิดเหตุพบ หนุ่มวัย 21 ปี นั่งอยู่บนเก้าอี้ โดยนิ้วเท้าขาด 2 นิ้ว ใกล้กันพบถังน้ำ 200 ลิตร สีน้ำเงิน ที่ด้านล่างถังมีคราบเลือดติดอยู่ นอกจากนี้ ยังพบถังใส่น้ำแข็งโดยภายในมีนิ้วเท้าของผู้ได้รับบาดเจ็บถูกแช่เอาไว้ เจ้าหน้าที่จึงช่วยปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ก่อนนำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บพร้อมนิ้วที่ขาดไปส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง
จากการสอบถาม ญาติผู้บาดเจ็บ เล่าว่า ตนมาตั้งร้านขายของแล้วเอาน้ำมาให้เด็กเล่น ก่อนเกิดเหตุตนกำลังจะเอาถังน้ำลงจากรถกระบะ โดยประคองถังน้ำร่วมกันกับหลานชาย แต่ถังใส่น้ำมีน้ำหนักมากทำให้ประคองไม่ไหว ถังจึงร่วงลงมาที่พื้นแล้วไปทับขาหลานชายจนนิ้วเท้าขาด 2 นิ้ว คือ นิ้วกลางกับนิ้วนาง ด้วยความตกใจจึงรีบโทรศัพท์ไปแจ้งที่ 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือโดยเร่งด่วน
นิ้วแขนขาขาดทำยังไง?
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ “นิ้วขาด” แขน ขา ขาด เบื้องต้นให้ทำดังนี้
- ห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดแผล แล้วพันบริเวณเหนือแผลให้แน่นป้องกันเลือดออก ควรเป็นผ้าแผ่นกว้าง ๆ เช่น ผ้ายืด ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด เพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้
- สังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเสียเลือดมากให้นอนพัก รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรงดอาหารทางปาก จิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน
ส่วนการเก็บรักษาส่วนที่ขาดนั้น
- เอาสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น สำรวจให้แน่ใจว่าถุงไม่มีรอยรั่วให้น้ำหรืออากาศเข้าได้
- ใส่ในกระติกน้ำแข็ง หรือถุงพลาสติกใหญ่ใส่น้ำแข็ง (อุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส) ที่สำคัญห้ามนำอวัยวะที่ถูกตัดขาดไปสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง เพราะจะทำให้เซลล์ตาย
- รีบนำส่ง รพ. อวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. เพราะกล้ามเนื้อจะตาย ถ้าทิ้งไว้นานเกิน บริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ยังสามารถต่อได้
- ถ้านำส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 2 – 3 ชม. สามารถนำส่งได้เลย ทาง รพ. สามารถจะเตรียมเก็บส่วนที่ขาด เพื่อทำการต่อได้
ทั้งนี้ อย่าลืมติดต่อไปยังโรงพยาบาลด้วยว่า มีแพทย์ที่พร้อมจะทำการผ่าตัดหรือไม่ เพื่อลดเวลาที่อาจจะเสียไปจากการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล
สำหรับ 4 ข้อห้ามในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา ได้แก่
- ผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดรักษาได้ เช่น เป็นโรคหัวใจ, โรคปอด
- ส่วนของเนื้อเยื่อช้ำมาก เช่น ถูกเครื่องบด, ถูกเครื่องปั่น รัด ดึง ขาด ถูกทับขาด, ถูกระเบิดนิ้ว แขน ขา ขาด
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น ส่วนที่ขาดตกไปในน้ำครำ หรือถูกสุนัข, สัตว์กัดขาด
- ส่วนที่ขาดไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง นานเกิน 6 ชม. หรือส่วนแขน ขา แม้เก็บที่ 4 องศาเซลเซียส แต่นานเกิน 6 ชม. การต่ออาจสำเร็จ แต่เสี่ยงต่อกล้ามเนื้อตาย ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายไหลกลับเข้ากระแสโลหิต เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ในการผ่าตัดต่ออวัยวะนั้น บางครั้งดูเพียงผิวเผินเหมือนกับว่า เป็นการเย็บแผลที่ผิวหนังบริเวณรอยต่อของอวัยวะที่ขาดจากกันให้มาติดกันเท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วในส่วนที่ลึกลงไปใต้แผลที่ผิวหนังนั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อน และมีเทคนิคการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมากมาย
อย่างไรก็ดี ต้องเน้นย้ำว่า ผลการผ่าตัดต่ออวัยวะที่ถูกตัดขาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ปัจจัยบางประการอาจอยู่เหนือการควบคุมของแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่าแพทย์ย่อมต้องการให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น การป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุ ไม่ตั้งตนในความประมาทย่อมจะดีที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง