“ดร.อานนท์” มาฉีก มอง”สุทิน” ชงแก้”พ.ร.บ.กลาโหม” เป็นเรื่องดี นำสู่เปลี่ยนแปลงใหญ่บ้านเมือง Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
จากกรณีที่มีรายงานว่านายจำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่าในการประชุมสภากลาโหมวันที่ 19 เม.ย. 2567 ซึ่งมี นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม ซึ่งมีการประชุมที่กองทัพอากาศ ได้เสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ…. และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ….
โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม มีการแก้ไขมาตรา 25 และมาตราอื่นๆ โดยมีการ กำหนด เงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งนายพลในแต่ละระดับไว้ 3 ประการ คือ
(1) ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม (2) ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการ (3) ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือความผิดลหุโทษ
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการทหารผู้ใดที่ใช้กำลัง ทหารเพื่อยึด หรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือ เพื่อก่อการกบฏ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสมาชิกสภากลาโหม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจแต่งตั้งซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 3 คน และยังมีการแก้ไขอีกหลายมาตรา
2. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ พระธรรมนูญศาลทหาร โดยมีการ ยกเลิก ศาลจังหวัดทหาร และให้ผู้เสียหาย มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ ทั้งในเวลาปกติและเวลาไม่ปกติ และมีสิทธิอุทธรณ์ ได้โดยตรงต่อศาลทหารสูงสุด ในเวลาไม่ปกติ เว้นแต่อยู่ในสถานการณ์การรบ หรือสงคราม ซึ่งเดิม ในภาวะที่ไม่ปกติไม่สามารถอุทธรณ์ได้ซึ่งการแก้ไข กฎหมายดังกล่าวนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้อง กับการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปัจจุบัน
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม กล่าวอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมที่ผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหมในประเด็นสกัดการรัฐประหารนั้นเป็นแนวทางที่สังคม ภาคประชาชน และในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง คิดมานานแล้ว เมื่อนายสุทิน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็ได้มีคณะทำงานหารือกัน ในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน มีตัวแทนขอทหารเข้ามาพิจารณาด้วยและเห็นชอบตรงกันก็เสนอเข้าที่ประชุมเมื่อวานนี้สภากลาโหมก็ได้ให้ความเห็นชอบ โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพก็ไม่ได้แสดงความเห็นอะไร
“แน่นอนว่าการรัฐประหารยึดอำนาจ ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ การไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร และจะให้เขียนเรื่องเหล่านี้ไว้ก็เป็นสิ่งที่ยาก เราจึงคิดกันว่าควรจะไปบัญญัติในกฎหมายรองมากกว่า หลักใหญ่ใจความคือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีข้อมูลที่จะมีการยึดอำนาจไม่ว่าจะเป็นทหารระดับไหน นายกรัฐมนตรีสามารถขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการระงับยับยั้ง หรือให้ผู้นั้นพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปได้”นายจำนงค์ย้ำ และว่า หลักการนี้เป็นเรืองที่มีการพูดคุยกันของฝ่ายประชาธิปไตยมานานแล้วและต้องการให้เกิดกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นมาจึงต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ขั้นตอนต่อไปก็จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อไป
ล่าสุดทางด้านผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า
แก้ไข พรบ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
หาได้แก้ไข พรบ. กฎอัยการศึก 2457 (อายุ 110 ปี) ไม่!!!!
ผศ. ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
พรบ. จัดระเบียบราชการกลาโหมนั้นแก้ไขกันมาเป็นสิบๆ รอบครับในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ที่ผ่านมาการแก้ไขพรบ กลาโหมจะมีอยู่สองลักษณะ
อย่างที่หนึ่งคือแก้ไขแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ เช่น แก้ไขพรบ. กลาโหมแล้วทำให้เกิดรัฐประหารครับ
อย่างที่สอง คือแก้ไขพรบ. กลาโหม หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ครับ เช่น การแก้ไข พรบ. กลาโหม 2536 หลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
แต่ พรบ. กฎอัยการศึก (Martial law) ของไทย ประกาศใช้ในพ.ศ. 2457 ไม่เคยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย มาร้อยสิบปี มีอำนาจระงับใช้รัฐธรรมนูญได้บางมาตรา ดังนั้นจึงเป็นกฎหมายที่มีสถานภาพพิเศษ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นใดไม่อาจจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้เลย
แต่พรบ. กฎอัยการศึก หาได้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ หากแต่เสริมรัฐธรรมนูญ และระงับใช้รัฐธรรมนูญได้ และให้อำนาจฝ่ายทหารเหนือกว่าฝ่ายบริหารหรือฝ่ายพลเรือนเมื่อคราวที่ความมั่นคงแห่งรัฐสั่นคลอน
การที่คุณสุทิน คลังแสง เสนอแก้ไข พรบ. กลาโหม พ.ศ. 2567 นั้น
ผมมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในบ้านเมือง ดังประวัติศาสตร์ไทยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อย่างแรกคือนักการเมืองพยายามแก้ไข พรบ. กลาโหมแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เส้นเวลาในประวัติศาสตร์มันชี้ชัดเช่นนั้น
แล้วกฎหมายเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี อย่าง พรบ. กฎอัยการศึก ก็อาจจะได้ประกาศใช้อีกครั้ง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ และอาจจะนำไปสู่การระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายพลเรือนอีกครั้ง โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!
เพราะอำนาจรัฐนั้นก็อยู่ที่ปลายกระบอกปืน คำพูดของประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนอย่างท่านเหมา เจ๋อ ตุง ยังคงเป็นจริงและใช้อธิบายการเมืองการปกครองของไทยได้ดีเสมอมาทุกยุคทุกสมัย
เอวังจึงมีด้วยประการฉะนี้ แล
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!!!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น