ฮ่องกงเริ่มแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียว ในร้านอาหารและธุรกิจต่างๆ กำหนดเส้นตาย 6 เดือน ฝ่าฝืนเสี่ยงถูกปรับ
เมื่อวันจันทร์ ฮ่องกงเริ่มบังคับใช้กฎหมาย ยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยภาคธุรกิจมีเวลาปรับตัวเป็นเวลา 6 เดือน กฎหมายดังกล่าว ซึ่งผ่านมติเห็นชอบเมื่อเดือนตุลาคม ได้กำหนดห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโฟมและพลาสติก ที่ยากต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำผิด เป็นค่าปรับสูงสุด 1 แสนดอลลาร์ฮ่องกง หรือเกือบ 5 แสนบาท
ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือร้านอาหาร หลังจาก 6 เดือนผ่านไป จะไม่สามารถจัดหาภาชนะ หรือช้อนส้อมพลาสติกให้ลูกค้าได้อีกต่อไป ซึ่งจากการสัมภาษณ์ นาย วิลสัน แทม ลูกค้ารายหนึ่ง ในย่านหว่านไจ๋ ที่มีแผงขายอาหาร ที่ใส่ถ้วยโฟมอยู่มากมาย เขากล่าวสนับสนุนนโยบายนี้ แต่ก็เห็นว่า การต้องพกกล่องอาหารมาเองเป็นเรื่องที่ลำบาก
ส่วนร้านขายอาหารกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนช้อนส้อมพลาสติกเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม้ ไม้ไผ่ หรือกระดาษ อาจเพิ่มต้นทุนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเวลา 6 เดือนนั้นไม่เพียงพอ สำหรับการระบายใช้บรรจุภัณฑ์ที่สั่งพิมพ์หลายหมื่นใบก่อนหน้าได้ทัน
นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังส่งผลต่อโรงแรมต่างๆ ซึ่งต่อไปจะไม่สามารถจัดหา แปรงสีฟัน หวี หรือน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้แก่ลูกค้าได้อีก นาย แจ็ค เฉิง ผู้อำนวยการ CTS HK Metropark Hotels Management บอกกับเอเอฟพีว่า ร้านอาหาร 5 แห่งของกลุ่ม ได้เปลี่ยนมาใช้ช้อนกระดาษแล้วตั้งแต่วันจันทร์ ขณะที่อุปกรณ์ต่างๆที่จัดไว้ในห้องน้ำในห้องพักประมาณ 2 พันห้อง ทั่วโรงแรมทั้ง 7 แห่งในเครือ ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง และเสริมว่า จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็คิดว่า มันคุ้มค่าต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ขยะพลาสติกในฮ่องกง ถือเป็นแหล่งขยะใหญ่อันดับ 2 ของเกาะ โดยมีปริมาณเฉลี่ย 2 พัน 331 ตันต่อวันในปี 2564 หรือ เทียบเท่ากับวาฬขนาดใหญ่เกือบ 70 ตัว