ศาลอุทธรณ์ยืนตามชั้นต้น ลงโทษ “หนุ่ม3นิ้ว” การ์ดวีโว่ แส่เรื่องเมียนมา ร่วมม็อบป่วนสถานทูต ต่อต้าน “มิน อ่อง หล่าย” ทำรัฐประหาร
ข่าวที่น่าสนใจ
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างจับตาสถานการณ์การสู้รบในพม่าอย่างใกล้ชิด โดยกองกำลังผสมฝ่ายกะเหรี่ยง เข้ารุกคืบ โจมตีทหารพม่าในหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้หนีภัยสงครามจำนวนมาก หนีตายข้ามมายังฝั่งไทย
ขณะที่ ในบ้านเราก็มีการตัดสินคดีความ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลแขวงพระนครใต้ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีของ วิชพรรษ แนวร่วมม็อบ 3 นิ้ว จากกลุ่ม We Volunteer วัย 24 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน พรบ.โรคติดต่อ เหตุจากการร่วมชุมนุม Stand With Myanmar เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย
โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เชื่อว่า จำเลยทราบประกาศ ให้ยุติการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ไม่ได้ทำตามคำสั่ง ที่อ้างว่า ไม่ได้ยินประกาศ เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ลงโทษปรับ 10,000 บาท แต่ให้แก้เป็นการปรับเป็นพินัย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย มีผลบังคับใช้แล้ว
สำหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ เกิดขึ้นภายหลังมีการรัฐประหารในประเทศพม่า ช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2564 ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมชาวพม่าและคนไทยบางส่วน ออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร ที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตพม่า
ในวันเกิดเหตุ ผู้กำกับการ สน.ยานนาวา ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ประกาศให้ยุติการชุมนุมในเวลา 16.16 น. ผู้ชุมนุมได้ทยอยแยกย้ายกลับ แต่ยังมีกลุ่มการ์ดเหลืออยู่บางส่วน จนเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมโล่และกระบอง ได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยเดินตั้งแถวเข้าไปยังพื้นที่ที่ผู้ชุมนุม ที่ยังรวมตัวกันอยู่ จึงเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่
ต่อมาเวลา 17.20 น. พบว่ามีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 3 ราย โดยรายหนึ่งเป็นประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และอีกสองรายเป็นทีมการ์ดของกลุ่มวีโว่ ซึ่ง “วิชพรรษ” คือหนึ่งในผู้ถูกจับกุม
ในชั้นสอบสวนวิชพรรษถูกแจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ยานนาวา ตลอดคืน จนวันรุ่งขึ้น พนักงานสอบสวนจึงขออำนาจศาลฝากขัง ที่ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันตัว ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้อง ต่อศาลแขวงพระนครใต้ และคดีเสร็จสิ้นการสืบพยาน เมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นเงินจำนวน 10,000 บาท เนื่องจากเห็นว่า จำเลยฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค ซึ่งในวันดังกล่าว วิชวรรษได้จ่ายค่าปรับทั้งสิ้น 9,500 บาท เนื่องจากถูกคุมขังไป 1 วัน ระหว่างถูกจับกุม จึงหักค่าปรับไป 500 บาท
กระทั่งล่าสุด 23 เม.ย. 67 วิชพรรษ เดินทางมายังห้องพิจารณาคดีที่ 7 เพื่อฟังคำพิพากษาตามนัดหมาย มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีรายงานว่า มีรถยนต์เจ้าพนักงานที่ติดลำโพง ซึ่งเป็นรถคันเดียวกับที่ ผู้กำกับการ สน.ยานนาวา ประกาศให้ยุติการชุมนุม จอดอยู่ไม่ไกล กับรถกระบะสีแดง ที่จำเลยยืนอยู่ อีกทั้งยังมีลำโพงขนาดใหญ่ 2 ตัว หันไปทางผู้ชุมนุมและจำเลย น่าเชื่อว่า จำเลยทราบประกาศของเจ้าพนักงานแล้ว แต่มิได้ทำตามคำสั่ง ที่อ้างว่าไม่ได้ยินประกาศ นับว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือ
พยานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ และอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตราย และโรคระบาดแพร่ออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง อนุ 6 และมาตรา 51 ให้ปรับเป็นพินัย 10,000 บาท นอกจากนี้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว วิชพรรษได้ลงไปดำเนินการเรื่องค่าปรับพินัย แต่เนื่องจากจำเลยได้ชำระค่าปรับไว้แล้วต่อศาลชั้นต้น ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ต้องชำระค่าปรับอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง