“กระทรวงต่างประเทศ” สรุปสถานการณ์สู้รบเมียนมา แก่คณะทูตานุทูต ลุยหารือองค์การระหว่างประเทศ ยกระดับช่วยเหลือมนุษยธรรม พร้อมเป็นตัวกลางเจรจาหากทุกฝ่ายร้องขอ ไม่ใช่ผู้ไกล่เกลี่ย Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
วันที่ 26 เม.ย.67 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ บรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา แก่คณะทูตานุทูต ที่ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาว่า วันนี้ช่วงบ่ายได้มีการประชุมเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา กับองค์การระหว่างประเทศ นายสีหศักดิ์ เป็นประธานการประชุมกับผู้แทนกับองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การที่เข้ามาก็มีความหลากหลาย เช่น UNHCR IOM ICRC โดยวัตถุประสงค์ในการพบกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่รวมถึงความต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
การหารือยกระดับการยกระดับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหากมีความจำเป็น และลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมา ย้ำว่าฝ่ายไทยให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ประสิทธิภาพ 2.ความน่าเชื่อถือ 3.ความโปร่งใสในการดำเนินการของไทย และได้มีการหารือเผื่อไว้ว่าในกรณีที่มีความไม่สงบเข้ามาฝั่งไทยเพิ่มมากขึ้น โดยสรุปเป็นการประชุมเพื่อเป็นการเตรียมการด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในอนาคต ที่ไทยได้เริ่มไปแล้วหนึ่งครั้ง
นอกจากนี้กระทรวงยังได้มีการจัดการบรรยายสรุปให้กับคณะทูต โดยผู้ช่วยรัฐมนตรี กต.ถึงสถานการณ์ล่าสุดของเมียนมาซึ่งมีการให้ข้อมูลค่อนข้างละเอียด เนื่องจากสถานการณ์แม้จะดีขึ้นในห้วงสองสามวันที่ผ่านมา แต่ความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่ สถานการณ์การสู้รบ ณ วันนี้มีความเบาบางลงโดยคาดว่า มาจากการเจรจาระหว่างทหารเมียนมากับกลุ่มต่าง ๆ เมืองเมียวดีสำหรับไทยมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ เราจึงอยากให้เมียวดีสงบ และเป็นเซฟโซนที่สามารถเดินทางได้โดยเฉพาะการขนส่งผ่านแดน และการดำเนินการของไทย ยืนยันว่าเราดำเนินการทุกอย่างบนหลักมนุษยธรรม และไทยต้องการรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะแย่ลงหรือดีขึ้น
นายนิกรเดช ยังกล่าวถึง การประชุมคณะ กรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เมียนมา เป็นครั้งแรก ที่มีนายปรานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทยเมียนมา จากนั้นได้ลงพื้นที่ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปในพื้นที่และประเมินความช่วยเหลือสถานการณ์ชาวเมียนมาที่หนีเข้าไทย รวมถึงให้กำลังใจและถามสารทุกข์สุกดิบของคนไทยในพื้นที่
สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป อาเซียนจะหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้มีบทบาทนำให้เกิดสันติภาพความมั่นคงสู่เมียนมาอีกครั้ง ตั้งแต่เกิดการสู้รบในเมียวดี ไทย และ สปป.ลาวได้หารือกันอย่างใกล้ชิด ลาวในฐานะประธานอาเซียน ได้หารือกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และเมียนมา ไทยก็จะหารือกับเมียนมา และองค์การระหว่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อต่อยอดการประชุมที่เกิดขึ้น และแสวงหาความร่วมมือที่ดีที่สุดระหว่างกัน โดยคำนึงถึงข้อสำคัญคือ ความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าการดำเนินการของไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ
คณะทูตให้ความสนใจมาก อยากทราบรายละเอียดการพูดคุยกับองค์การระหว่างประเทศ และบทบาทของไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรายืนยันว่าจะพูดคุยกับลาวและเมียนมา ขณะที่แนวทางมาตรฐานการปฎิบัติงาน (SOP) ที่มีการปรับปรุงในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมานัดแรก ในวันที่ 23 เม.ย.67 เป็นการพิจารณาถึงกรณีเร่งด่วน หากมีคนจำนวนมากขึ้นเข้ามาจะดำเนินการอย่างไร ปรับปรุงให้ทันสมัยและตอบสนองได้เร็วยิ่งขึ้น โดยจะมีแผนเตรียมการก่อนที่คนเข้ามาไทยจากกรณีสู้รบ เมื่อคนเข้ามาแล้วจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในพื้นที่อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ปลอดภัย เกิน 30 แห่ง ไม่นับบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาอื่น ๆ และเมื่อการต่อสู้ในฝั่งเมียนมาจบลง สถานการณ์สงบ ผู้หนีภัยต้องประสงค์กลับด้วยความสมัครใจ พร้อมทั้งมีแนวทางให้ความช่วยเหลือพลเรือน และทหารที่หนีภัย ซึ่ง SOP ฉบับปรับปรุงได้ใช้แล้วตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจครั้งที่ 1 เสร็จสิ้น
ขณะที่ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่อยากให้ไทยเข้าไปมีบทบาทในการเป็นผู้อำนวยการความสะดวกสร้างสันติภาพในเมียนมานั้น นายนิกรเดช ระบุว่าไทยมีบทบาทในการเป็นตัวกลาง ไทยแสดงความพร้อม ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่มีข้อแม้จะทำก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายในเมียนมามีความต้องการให้ไทยทำ
ส่วนเรื่องการเสนอของบกลางมาใช้สำหรับ การช่วยเหลือมนุษยธรรมนั้น ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มีนายปานปรีย์ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเลขาของคณะกรรมการ สมช.อาจจะพูดในลำดับต่อไป วันนั้นยังไม่มีการลงรายละเอียด แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ สมช.จะมองหาทิศทางในการใช้งบประมาณ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น