ซากชุมชนโบราณ ที่ประกอบด้วยบางส่วนของโบสถ์ สุสานและศาลากลาง กลายเป็นเกาะชั่วคราว กลางเขื่อน ปัน-ตา-บังกัน ในจังหวัด นวยบา เอซีคา ทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์อีกครั้งหนึ่ง มาร์ลอน ปาลาดิน วิศวกรประจำสำนักงานชลประทานแห่งชาติ กล่าวว่า ซากชุมชนอายุเกือบ 300 ปีแห่งนี้ เริ่มโผล่ให้เห็นเมื่อเดือนมีนาคม หลังจากแล้งฝนเป็นเวลาหลายเดือน และแม้ว่าเป็นครั้งที่ 6 แล้วที่สามารถมองเห็นซากชุมชนโบราณ ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนเพื่อใช้ในการเกษตรและผลิตไฟฟ้าในช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มองเห็นยาวนานที่สุด หลังจากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงเกือบ 50 เมตร จากระดับปกติ 211 เมตร
เดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม เป็นเดือนร้อนและแล้งที่สุด แต่สภาพอากาศในปีนี้ถูกซ้ำเติมจากปรากฏการณ์เอล นีโญ่ ปัจจุบัน พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของจังหวัด นวยบา เอซีคา ถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติอย่างเป็นทางการ สัปดาห์นี้ อุณหภูมิปกติในจังหวัดอยู่ที่ราว 37 องศาเซลเซียส แต่ดัชนีความร้อน หรืออุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึก อยู่ที่ราวๆ 42 องศาเซลเซียส
อีกด้าน ซากชุมชนโบราณ กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว เข้าไปเยี่ยมชมและถ่ายรูป แม้ว่าต้องเผชิญกับอากาศร้อนจัด โดยจ่ายเงินราว 300 เปโซ หรือประมาณ 190 บาท จ้างชาวประมงพานั่งเรือระยะทางสั้นๆ เพื่อไปถ่ายรูปใกล้ๆที่เกาะกลางน้ำชั่วคราว
ส่วนที่อินเดีย ซึ่งกำลังจัดการเลือกตั้ง ที่ใช้เวลาทั้งหมดราว 6 สัปดาห์ การโหวตเฟสแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฎว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ลดลง 4 % เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2562 มาอยู่ที่ 66% สื่อหลายสำนักคาดว่า อากาศร้อนมีส่วน ส่วนวันนี้ เป็นการเลือกตั้งเฟสที่สอง ในรัฐพิหาร ทางตะวันออก รัฐกรณาฎกะ (กอ-ระ-นา-กะ-ตะ) ทางใต้ บางพื้นที่ของรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุด ซึ่งหลายพื้นที่ในรัฐเหล่านี้เผชิญกับคลื่นความร้อน ส่วนใหญ่อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
คณะกรรมการเลือกตั้งอินเดีย ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประเมินผลกระทบจากอากาศร้อนอบอ้าวก่อนจัดเลือกตั้งแต่ละรอบ โดยการเลือกตั้งเฟสแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กกต.อินเดียยังไม่พบว่ามีอะไรที่ต้องวิตก แต่ก็กำลังติดตามรายงานสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนและเจ้าหน้าที่ประจำคูหา จะปลอดภัย
และที่บังกลาเทศ อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 4-5 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 43 องศาเซลเซียส ทำให้ทางการตัดสินใจประกาศปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษาเป็นการชั่วคราว อย่างน้อยจนถึงวันที่ 27 เมษายน มีผลกระทบนักเรียนและนักศึกษากว่า 33 ล้านคน นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ที่ทางการบังกลาเทศต้องใช้มาตรการหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว