จากข้อมูลทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. สืบสวนมาโดยตลอด จึงได้เฝ้าติดตาม สังเกตเรื่อยมา กระทั่งพบว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 พบว่ามีกลุ่มชาวจีน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้เดินทางลักลอบเข้ามาในอาณาจักรไทยผ่านเส้นทางดังกล่าวจริง จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงสกัดจับบนถนนทางหลวงหมายเลข 33 พบ Mr. Zheng ฯ อายุ 31 ปี สัญชาติจีน ขณะกำลังนั่งรถรับจ้างจะเดินทางเข้าไปในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศลาว และจากการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนพบว่า เป็นบุคคลที่มีการออกหมายจับของตำรวจสากล (Red Notice Interpol) และรัฐบาลจีนต้องการนำตัวกลับไปดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งในส่วนนั้นมีผู้เสียหายจำนวน 121 ราย คิดเป็นความเสียหายกว่า 40 ล้านหยวน โดย Mr. Zheng ฯ ผู้ต้องหารายนี้ มีหน้าที่ในการการวางแผนทางการเงินของเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การจัดการองค์กรและการฟอกเงิน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้นำตัวส่ง สภ.เมืองสระแก้ว ดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และผลักดันตัวคนร้ายเพื่อไปดำเนินคดีต่อในประเทศจีน
ทั้งนี้จากการสืบสวนขยายผลพบอีกว่า การที่จะผ่านเส้นทางธรรมชาติเข้ามาในราชอาณาจักรไทยนั้น จะต้องมีการชำระเงินให้กับกลุ่มนายทุนชาวกัมพูชาครั้งละ 3,000 บาทต่อคน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนเส้นทางการเงินจนกระทั่งพบว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นชาวกัมพูชา จำนวน 3 คน ได้แก่ นายดาใหญ่ (กัมพูชา) , นายดาเล็ก (กัมพูชา) , นายซุ่ย (กัมพูชา) และชาวไทยอีก 1 คน คือ ร.ต.ท.อังคะ ฯ (นอกราชการ) เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ยื่นคำร้องขอหมายจับต่อศาลจังหวัดสระแก้ว ในข้อหา “ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย” ก่อนจะยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดสระแก้ว เข้าทำการตรวจค้น และทำการจับกุมนายดาเล็ก ฯ , นายซุ่ย และ ร.ต.ท.อังคะ ฯ ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายไว้ได้ ก่อนนำตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. ดำเนินการตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งติดตามตัวนายดาใหญ่ (ชาวกัมพูชา) ผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี เพื่อมาดำเนินคดีต่อไป
สอบถามคำให้การเบื้องต้น Mr. Zheng ฯ (ผู้ต้องหาชาวจีน) ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนนายดาเล็ก (กัมพูชา) , นายซุ่ย (กัมพูชา) และ ร.ต.ท.อังคะ ฯ (นอกราชการ) รับสารภาพว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง แต่ปฏิเสธไม่ให้การใดๆช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พ.ต.ท.ชัยณรงค์ จอมเล็ก สว.กก.3 บก.ปอท.โทรศัพท์ 063-9954569 , พ.ต.ท.ณรงฤทธิ์ พุ่มพวง สว. กก.3 บก.ปอท. โทรศัพท์ 090-9855532
สำหรับการดำเนินการของศูนย์ AOC กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) นั้น ได้มีการดำเนินการในทุกมิติ โดยมีการประสานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, Line, Tiktok และอื่นๆ เพื่อปิดกั้นช่องทางของคนร้ายในการหลอกลวงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยได้ดำเนินการปิดกั้น URL ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแอบอ้างเป็นผู้มีเชื่อเสียง หน่วยงานรัฐ, องค์กรเอกชน หรือ แม้กระทั่งแอบอ้างเป็นหน่วยงานที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อหวังข้อมูลหรือทรัพย์สินของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.2566-ปัจจุบัน ศูนย์ AOC กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มีการปิดกั้นลิงก์รวมแล้วจำนวนกว่า 4,995 URL
นอกจากนี้ยังมีการประสานงานร่วมกับการธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เพื่ออายัดบัญชีที่คนร้ายใช้หลอกลวงผู้เสียหาย ซึ่งธนาคารกรุงไทยโดย คุณพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ประธานผู้บริหาร Legal Compliance & Financial Crime ได้นำแคชเชียร์เช็คมอบให้กับทางศูนย์ AOC เพื่อนำเงินคืนให้กับผู้เสียหายในคดีต่อไป
นอกจากนี้ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ก็ได้มีการดำเนินการเชิงรุกโดยเป็นตัวกลางในการรับเบาะแสจากประชาชนเพื่อนำมาประสานกับหน่วยงานรัฐ และเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ โดยการเปิดช่องทางรับแจ้งเบาะแสของมิจฉาชีพออนไลน์รูปแบบต่างๆ โดยให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสเข้ามาผ่านเว็บไซต์ https://www.cib.go.th/e-service โดยแบ่งการรับแจ้งเบาะแสเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1.รับแจ้งเบาะแส “ถูกมิจฉาชีพแอบอ้าง เป็นบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น”
2.รับแจ้งเบาะแส “SMS หลอกลวง”
ซึ่งข้อมูลที่ประชาชนแจ้งเข้ามาตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จะนำไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดกั้นช่องทางหลอกลวงของมิจฉาชีพ รวมถึงเป็นข้อมูลในการสืบสวน วิเคราะห์ข้อมูลและขยายผลเพื่อนำไปสู่การจับกุมขบวนการมิจฉาชีพในอนาคต และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถช่วยลดความเสียหายจากมิจฉาชีพออนไลน์ลงได้