ซึ่งสำหรับรายชื่อผู้ที่ได้รับเสนอ คือ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดี และ กรรมการสภามหาวิทยาลัย รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยกำหนดให้มีการเสนอชื่อเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ จำนวน 51 ส่วนงาน
โดยผลการนับคะแนนในเบื้องต้น ณ เวลา 20.00 น. พบว่า
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับที่ 1 ใน 26 ส่วนงาน,
รองลงมาคือ รศ.ดร.พิภพ ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับที่ 1 ใน 12 ส่วนงาน และ
ผศ.ดร.ปริญญา ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับที่ 1 ใน 5 หน่วยงาน
ทั้งนี้ ยังพบว่า ใน 27 หน่วยงานระดับคณะวิชาที่จัดการเรียนการสอน ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ได้รับการเสนอชื่อ มาเป็นอันดับ 1 ใน 17 ส่วนงาน
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ส่วนงานที่มีสิทธิเสนอชื่อ จะได้รายงานผลการเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้รับทราบ และคณะกรรมการสรรหาฯ จะได้จัดประชุมในวันที่ 28 ก.พ.2567 เพื่อรายงานสรุปความคิดเห็น เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยทราบ พร้อมดำเนินการทาบทามบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ เข้ารับการสัมภาษณ์ และแถลงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 67 ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า อธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ต้องมีคุณธรรม
30 เมษายน 2567 ก็จะทราบแล้วว่าอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นใคร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขั้นตอนสุดท้าย จึงขอฝากไปถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ช่วยตระหนักโดยคิดคำนึงถึงหลักคุณธรรมและจริยธรรมในการพิจารณาคัดเลือก เพราะถือได้ว่าคุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำองค์กรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไม่สร้างสรรค์ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็กลายเป็นความตกต่ำจนธรรมศาสตร์ได้กลายเป็นเพียงแค่บ่อน้ำบำบัดความกระหายอำนาจของเครือข่ายอาจารย์กับนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังม็อบสามนิ้ว อีกทั้งยังเป็นบ่อเงินบ่อทองของเครือข่ายที่ใช้ตำแหน่งกับอำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องด้วยความฉ้อฉล
ฉะนั้น อำนาจที่อยู่ในมือของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนจิตสำนึกที่มีอยู่ในกรรมการสภามหาวิทยาลัยแต่ละท่าน จึงมีส่วนสำคัญในการได้มาซึ่งอธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม หวังว่าสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกท่านจะตัดสินใจบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม โดยมีความโปร่งใสซื่อตรงต่อคะแนนและผลการสรรหาที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน
“ธรรมศาสตร์” ต้องเป็นดินแดนแห่งความถูกต้องของคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เสรีภาพทุกตารางนิ้วต้องเกิดจากความรับผิดชอบทุกตารางเซน เพราะสิทธิเสรีภาพย่อมมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบเสมอถึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชนก็ต้องรักแบบสันติประชาธรรม ไม่ใช่จุดไฟความแตกแยกแล้วหลอกใช้ประชาชนไปล้มล้างการปกครอง
“ธรรมศาสตร์และการเมือง” ต้องเป็นพื้นที่ของการศึกษาเรียนรู้ที่เท่าทันการเมือง ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของอาจารย์กับนักการเมือง ต้องไม่ตกหลุมพรางประวัติศาสตร์บิดเบือนที่เชิดชูคณะราษฎรจนมัวเมา ต้องไม่สร้างความแตกแยกบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมใจของชาติ แต่ต้องช่วยกันสร้างประชาธิปไตยด้วยความรู้รักสามัคคี ราชประชาสมาสัยนำไทยสู่อนาคต
ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาว่าอธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่จะเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อันจะนำพาธรรมศาสตร์ออกจากความมืดมิดไปสู่แสงสว่าง อยากเห็นอธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ที่ทันสมัย จะต้องไม่ใช่คนที่จูงจมูกของนักศึกษาไปรับใช้การเมือง ไม่ใช่คนด่างพร้อยจนเป็นที่ติฉินนินทาของสังคม แต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด