ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ คดีม.112 “บอส ฉัตรมงคล” หนุ่ม 3 นิ้ว สั่งจำคุก 3 ปี หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง
ข่าวที่น่าสนใจ
จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความรายงานว่า จับตา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ม.112 ของ “ฉัตรมงคล” หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่อัยการอุทธรณ์ต่อ
ในวันแรงงานนี้ (1 พ.ค. 2567) “บอส” ฉัตรมงคล วัลลีย์ หนึ่งในแรงงาน ผู้ประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทเอกชน วัย 29 ปี ต้องเดินทางไปที่ศาลจังหวัดเชียงรายอีกครั้ง เพื่อฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คอมเมนต์ข้อความมีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท” เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564
คดีนี้มี นัธทวัฒน์ ชลภักดี แอดมินเพจเฟซบุ๊กศรีสุริโยไท ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย หลังการสืบพยานไประหว่างวันที่ 20–24 ธ.ค. 2565 พนักงานอัยการโจทก์นำสืบว่า เฟซบุ๊กที่มีชื่อเหมือนกับชื่อของจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊กศรีสุริโยไท ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษายกฟ้องคดี โดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานบุคคลและหลักฐานที่ยืนยันว่าจำเลยกระทำตามฟ้องจริง ที่โจทก์เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดมาจากตำรวจชุดสืบสวนที่นำชื่อเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา ไปค้นในทะเบียนราษฎร์ของจำเลย แล้วนำมาเปรียบเทียบกับภาพในเฟซบุ๊ก เมื่อพิจารณาทางนำสืบของจำเลยที่ชี้ให้เห็นว่าหน้าเฟซบุ๊กมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย โดยไม่ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง
ต่อมาอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ได้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ โดยสรุปอ้างว่าจำเลยเคยมีประวัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงต่อราชอาณาจักรมาหลายครั้ง และเคยถูกรอการลงโทษจำคุกในคดีจากการชุมนุมช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563
ฝ่ายโจทก์พยายามยืนยันว่าภาพเฟซบุ๊กที่แคปหน้าจอมาเป็นพยานหลักฐานเป็นของจำเลย ไม่มีเหตุที่ผู้ใดสามารถนำภาพของจำเลยมาสร้างบัญชีเฟซบุ๊กในนามจำเลยได้ การมีชื่อเฟซบุ๊กตรงกับชื่อจำเลยหลายบัญชี ส่วนหนึ่งมาจากจำเลยรับว่าเคยสมัครไว้หลายครั้ง เนื่องจากบัญชีเดิมไม่สามารถเข้าได้ และจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้บัญชีที่เข้าไม่ได้นั้นต้องถูกแก้ไขหรือลบไป
ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็โต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ โดยยืนยันว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์มิได้พิสูจน์ยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าเฟซบุ๊กตามฟ้องนั้น จำเลยเป็นผู้นำเข้าข้อมูลดังกล่าว เพราะมิได้มีการสืบสวนในคดีเกี่ยวกับความผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่นำชื่อไปค้นในข้อมูลทะเบียนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบยืนยันผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก เอกสารหลักฐานของโจทก์ยังมิน่าเชื่อถือ เป็นการพิมพ์โดยไม่ปรากฏ URL
ทั้งพยานผู้กล่าวหายังให้การถึงข้อเท็จจริงในประเด็นการไปติดตามตัวผู้โพสต์ข้อความ ในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล ที่แตกต่างกัน อันส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของพยานปากดังกล่าว ทั้งพยานโจทก์ต่างก็เบิกความว่าบัญชีเฟซบุ๊ก สามารถนำรูปของผู้อื่นมาเป็นโปรไฟล์ได้ และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กที่อ้างว่ามีชื่อเหมือนกับจำเลยหลายบัญชีดังล่าว
ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริง ฉัตรมงคลไม่เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อน ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ-ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ในคดีคนอยากเลือกตั้งช่วงปี 2561 จำนวน 2 คดี และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ทำให้เสียทรัพย์ ในการชุมนุม #ตามหานาย หน้า ม.พัน 4 เมื่อเดือนกันยายน 2563 จำนวน 1 คดี โดยคดีหลังนี้แม้ศาลอาญาให้รอการลงโทษจำคุก แต่ก็ยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ยังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใด ทำให้ต้องติตดามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อไป
สำหรับ “บอส” ฉัตรมงคล มีภูมิลำเนาอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร และทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี การถูกกล่าวหาในคดีนี้ตลอด 2 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เขาต้องเดินทางไปจังหวัดเชียงรายเพื่อต่อสู้ไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งแล้ว ประกอบกับบอสมีรายได้ไม่มากนัก ทำให้การต่อสู้คดีมีอุปสรรคอย่างมาก โดยเขาได้รับความช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทางจากกองทุนดา ตอร์ปิโด แต่ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วยตนเอง
ล่าสุดมีรายงานระบุว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ คดี ม.112 ของ “บอส ฉัตรมงคล” จากที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีความผิด โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้คอมเมนต์ข้อความตามฟ้อง
พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 27 เดือน
เนื่องจากเป็นความผิดร้ายแรง ศาลจึงไม่ให้รอการลงโทษ ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันตัวในชั้นฎีกา
ทั้งนี้ หากหักโทษหนึ่งในสาม จาก 3 ปี ควรจะเหลือโทษจำคุก 2 ปี จึงยังต้องตรวจสอบว่าศาลอุทธรณ์นับโทษผิดหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ได้มีการบวกโทษจำคุกจากข้อหาอื่นใดอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง