AP และ BBC รายงานว่ากระทรวงพาณิชย์ตุรกีได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (2 พค.) ประกาศว่าตุรกีได้ยุติการค้าขายทั้งหมด ทุกชนิดและทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าและส่งออกกับอิสราเอลแล้ว จากเหตุผลเรื่องปฏิบัติการสู้รบในกาซา พร้อมประกาศด้วยว่ามาตรการระงับการนำเข้าส่งออกสินค้าจากอิสราเอลจะมีผลบังคับใช้จนกว่าอิสราเอลจะยอมปล่อยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่กาซาโดยสะดวก เพียงพอและไม่มีการขัดขวาง
ด้านนายอิสราเอล แค็ทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลแถลงตอบโต้และกล่าวหาประธานาธิบดีเรเจ็บ ทายยิบ แอร์โดอัน ของตุรกีว่าทำตัวเป็นเผด็จการ และละเมิดข้อตกลงทางการค้ากับอิสราเอล พร้อมกันนี้ แค็ทซ์ก็ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโดยทันที โดยให้รีบติดต่อและนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆทดแทนสินค้าจากตุรกี รวมทั้งให้จัดหาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพื่อป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น ทั้งนี้มูลค่าการค้าระหว่างอิสราเอลและตุรกีปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 2 แสน 6 หมื่นล้านบาท
ตุรกีเผยว่ามาตรการตอบโต้อิสราเอลครั้งนี้ถือเป็นการตอบโต้ระยะที่สอง หลังจากเดือนที่แล้วตุรกีได้สั่งจำกัดการส่งออกสินค้าจำนวน 54 ประเภทไปยังอิสราเอล รวมทั้งอลูมิเนียม, เหล็ก, ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและปุ๋ยเคมี ด้านอิสราเอลตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษี
รัฐบาลแอร์โดอันประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสกดดันอย่างหนักจากชาวตุรกีที่ต้องการให้ตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอล แอร์โดอันยังถูกวิจารณ์ว่าทำตัวหลายมาตรฐาน โดยต่อหน้าก็ตำหนิประณามอิสราเอลแต่ก็ยังไม่ยุติความสัมพันธ์ทางการค้า
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้นายฮากาน ฟีดาน รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีประกาศว่าตุรกีได้ตัดสินใจที่จะร่วมลงชื่อกับแอฟริกาใต้ในการฟ้องอิสราเอลในข้อหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวปาเลสไตน์
ตุรกีประกาศรับรองรัฐอิสราเอลในปี 2492 ภายใต้รัฐบาลของแอร์โดอัน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศดีขึ้นตามลำดับจนกระทั่งอิสราเอลส่งกองทัพเข้าสู่กาซาหลังเหตุโจมตีวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดในกาซาพุ่งสุงกว่า 3 หมื่น 4 พัน 500 คน