“ซูเปอร์โพล” เปิดผลสำรวจ ประชาชนอยากเห็น “นายกฯ” ถือธงนำ ทุบเปรี้ยง 5 ข้อ “ปฏิรูปตำรวจ” Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
5 พฤษภาคม 2567 นายนพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ปรึกษามูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ และผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ กับ ศรัทธาจากประชาชน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนทั้งสิ้น 1,597 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 4 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา
เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปตำรวจเพื่อฟื้นฟูศรัทธาจากประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 ระบุ ต้องการให้ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ถือธงนำ ฟังเสียงของประชาชน ปฏิรูปตำรวจ ในขณะที่รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.7 ต้องการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดี เป็นตำรวจของประชาชน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.9 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจแล้วดูแลความปลอดภัยของประชาชน ของชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
ที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.9 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 6.1 ไม่ต้องการ และเมื่อแบ่งออกตามเพศ พบว่า ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ คือ ร้อยละ 94.6 ของชาย และร้อยละ 93.2 ของหญิง ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ และเมื่อแบ่งออกตามช่วงอายุ พบเช่นกันว่า ทุกช่วงอายุต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ โดย คนรุ่นใหม่ มีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 98.5 ของผู้มีอายุไม่เกิน 24 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ ในขณะที่ รองลงมา คือ กลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.9 และกลุ่มคนที่อายุ 40 – 59 ปี ร้อยละ 93.2 และกลุ่มคนอายุ 25 – 39 ปี ส่วนใหญ่เช่นกันคือร้อยละ 91.4 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่การปฏิรูปตำรวจจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง เมื่อ
(1) นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ถือธงนำ ฟังเสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ แก้จุดเปราะบางที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายสิบปี อาทิ ภารกิจงานตำรวจมีหลายหน้างานมากกว่าเรื่องความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนแตกต่างไปจากภารกิจของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น และคุณภาพชีวิตที่ขัดสนแต่งานหนัก รายได้ต่ำ ปัญหาหนี้สินมากจนต้องหาช่องทางอื่นเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เป็นต้น
(2) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หนุนเสริมให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน ออกแบบนโยบายและข้อสั่งการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนระดับโรงพักมากกว่าข้อสั่งการหรือนโยบายแบบเหมารวมให้ทุกโรงพักแสดงผลงานเหมือนกันหมดเพราะแต่ละโรงพักมีความต้องการของประชาชนแตกต่างกัน
(3) ผู้นำหน่วยทุกระดับขององค์กรตำรวจ ยึดมั่นทำตามหน้าที่ด้วยความซื่อตรง
(4) องค์กรตำรวจใช้ข้อมูลผลงานตำรวจภาพใหญ่ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและผลงานตำรวจภาพย่อยระดับพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนระดับโรงพัก เสริมสร้างศรัทธาของประชาชน
(5) องค์กรตำรวจใช้เทคโนโลยียุคดิจิทัลในโลกไซเบอร์ ทลายกำแพงแดนสนธยา หยุดยั้งอำนาจมืด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น