แหล่งข่าวที่เมียนมารายงานว่ากรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรของไทยเดินทางไปพบตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาหลายกลุ่ม รวมทั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA), องค์กรแห่งชาติกะฉิ่น (KNO) และ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาที่ได้รับการสนับสนุนโดยนางอองซาน ซูจี ที่เชียงใหม่ในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา นายซอ มินตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ควรเข้ามาสนับสนุนกองกำลังหรือกลุ่มติดอาวุธต่างๆที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเมียนมา และว่าแม้ว่าตัวเขาเอง (ซอ มินตุน) มีความสนิทสนมกับอดีตนายกฯไทย แต่เขาก็มองว่าทักษิณไม่ควรเข้ามาสนับสนุนกลุ่มชาติพันธ์ุหรือกลุ่มก่อการร้ายที่มุ่งทำลายผลประโยชน์เมียนมาและต่อต้านรัฐบาลทหาร
ขณะที่ เดอะ เนชั่น สื่อไทยรายงานเมื่อวานนี้ (8 พค.) ว่าระหว่างพบกับผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เชียงใหม่ และที่กรุงเทพอีกรอบ ทักษิณได้เสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มติดอาวุธเมียนมากับรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อยุติสงครามกลางเมืองที่ยึดเยื้อมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อต้นปี 2564 หรือกว่า 3 ปีที่แล้ว แต่ความเคลื่อนไหวของทักษิณกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมพูดคุย โดยผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งข้อสงสัยว่าทักษิณมีความเข้าใจความขัดแย้งปัญหาที่ซับซ้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเมียนมามากน้อยขนาดไหน
นอกจากนี้ก็ดูเหมือนว่าการเชื้อเชิญตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมพูดคุยเป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีการเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูล ตัวทักษิณเองก็มีความสับสน จำสลับกันระหว่างองค์กรแห่งชาติกะฉิ่น (KNO) กับกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกัน โดย KNO เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ KIA เป็นกองกำลังขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลกว้างขวาง
นอกจากนี้ทักษิณยังนำเอาเอกสารที่เป็นทางการไปให้ผู้แทนกลุ่มต่างๆลงนาม โดยที่ระบุชื่อทักษิณในฐานะคนกลางไกล่เกลี่ย แต่ปรากฎว่าไม่มีกลุ่มไหนยอมเซ็นชื่อแม้แต่คนเดียว โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) จะไม่แยกเจรจาสันติภาพแบบตามลำพัง แต่จะเจรจาในนามของกองกำลังชาติพันธุ์ทั้งหมด โดยมีตัวแทนของทุกกลุ่มเข้าร่วมเท่านั้น รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทางภาคเหนือเช่นกองทัพว้า, กองทัพเอกราชกะฉิ่น, กองทัพอาระกันและกองทัพปลดปล่อยตาอัง และอื่นๆอีกหลายกลุ่ม