“มนัส โกศล” รุดรับหนังสือดูแล “ลูกจ้างห้างดัง” เดือดร้อนเหตุนายจ้างเบี้ยวค่าจ้าง ลั่นให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายเต็มที่

กดติดตาม TOP NEWS

"มนัส โกศล" นำคณะ "กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน" รุดรับหนังสือดูแล "ลูกจ้างห้างดัง" เดือดร้อนเหตุนายจ้างเบี้ยวค่าจ้าง ลั่นให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิอย่างครบถ้วน

TOP News เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายมนัส โกศล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมรับหนังสือจากตัวแทนลูกจ้างห้างดังย่านธนบุรี เข้ายื่นร้องขอความช่วยเหลือ กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ยืนยันให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายอย่างเต็มที่

มนัส โกศล

 

นายมนัส โกศล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีลูกจ้างห้างดังแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้างเป็นระยะเวลานาน สืบเนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์โควิด 19 โดยตัวแทนนายจ้างเคยทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบันนายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และนายจ้างยังคงให้ลูกจ้างทำงานอยู่ โดยไม่ได้รับค่าจ้างซึ่งกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าว ตนจึงเข้ารับหนังสือขอความช่วยเหลือจากลูกจ้าง พร้อมให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหาแนวทางช่วยเหลือในเรื่องข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องตามกรอบอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิอย่างครบถ้วน

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ห้างดังกล่าว มีลูกจ้างทั้งหมด 126 คน โดยพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 6 (สรพ.6) มีการรับคำร้องและออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแล้ว จำนวน 23 คำสั่ง เมื่อนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายในกำหนด จะต้องมีการดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้าง โดยลูกจ้างสามารถฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งได้ ตลอดจนการใช้สิทธิเพื่อขอรับเงินเยียวยาจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยตนได้กำชับให้ สรพ. 6 ชี้แจงข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ลูกจ้างรับทราบ ตลอดจนดูแลให้คำปรึกษาลูกจ้าง ในการเขียนคำร้อง หากประสงค์ให้กรมแต่งตั้งทนายยื่นฟ้องคดีแทนลูกจ้างเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอีกทางหนึ่ง จึงขอให้มั่นใจในการทำงานของกรมว่าเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากลูกจ้างที่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงานสามารถปรึกษาได้ที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น