เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแสดงความคิดเห็นบนเวที Decarbonize Thailand Symposium 2024: Path to Net Zero Collaboration ในหัวข้อ Decarbonization 101 Deep Dive: Exploring Cutting-Edge Strategies for a Sustainable Future สร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ร่วมกับผู้นำองค์กรด้านความยั่งยืนในระดับประเทศ ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเราเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกในปี 2024-2030 ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM), ราคาค่าไฟฟ้า, ราคาคาร์บอนเครดิต, พฤติกรรมคนรุ่นใหม่และผู้บริโภค, ความพลิกผันของเทคโนโลยี, โมเดลธุรกิจใหม่ ทั้งนี้ วิกฤตเรื่องความแปรปรวนทางสภาพอากาศเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน และเราควรมองให้เป็นเรื่องความท้าทาย ที่หากปรับตัวได้ก่อนก็สามารถเป็นผู้กำหนดสร้างข้อตกลงต่างๆ ได้ก่อน เรื่องของพลังงานสะอาดจะเป็นตัวชี้วัดถึงความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจเองจึงต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานไปพร้อมกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้เสีย ไม่เพียงเท่านั้น ความยั่งยืนยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือกทำงานของคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยั่งยืนที่จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสให้เกิดผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพที่มาพร้อมโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนและสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้เกิดเป็นรูปธรรม ได้กำหนด 3 Big Goals สู่ความยั่งยืน ที่มีจุดตั้งต้นจากเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ Heart — ด้านสังคม , Health — ด้านเศรษฐกิจ และ Home — ด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้หยิบยก 3 เป้าหมายหลักที่มีความท้าทายสูงและเร่งด่วน ดังนี้
- ด้านพลังงาน เป้าหมายองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยเป็นการดำเนินการทั้ง Scope 1-3 มุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมความรู้และสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทั้งห่วงโซ่คุณค่า ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องสายพันธุ์พืชดูดคาร์บอน เพื่อสามารถทำคาร์บอนเครดิตได้
- ด้านการลดขยะ เป้าหมายองค์กรที่มีของเสียสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่เรื่องของพลาสติก แต่ยังรวมถึงขยะอาหาร และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องสร้างนวัตกรรมการรีไซเคิลเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ด้านการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้อยู่ในหลักสูตรเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และเกิดเป็นสังคมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันเพื่อพิชิตเป้าหมายความยั่งยืน สตาร์ทอัพจึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีงานอีกมากที่รอคนเก่งมาช่วยคิดและลงมือทำ นับเป็นยุคทองของสตาร์ทอัพไทยที่มองเห็นโอกาส