ลั่นกลองรบ!เปิดศึกชิง "สว." บทพิสูจน์ฝีมือ "กกต." มีน้ำยา หรือ บ้อท่า สกัดฮั้วเลือกกันเองเด็ดปีกพวกหัวหมอ ร่อนตะแกรงคัด "สว.น้ำดี" ตบเท้าเข้าสภาสูง
ข่าวที่น่าสนใจ
คนดังการเมืองตบเท้าสมัคร “สว.” พรึ่บ
โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่บ้านเกิดของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี นายใหญ่พรรคเพื่อไทย ได้บิ๊กเนมเบอร์ต้น ๆ ของพรรคเพื่อไทย ส่งเข้าประกวด นั้นคือ “สมชาย วงษ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี สามี นางเยาวภา วษ์สวัสดิ์ น้องสาว ทักษิณ ขณะที่จังหวัดระยอง ที่ศาลาประชาคม อ.เมือง “จักรพันธุ์ ยมจินดา” พิธีกรรายการข่าวชื่อดังตบเท้ามาสมัครด้วย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ คนดังประกาศตัวลงรับสมัคร สว.กันตั้งแต่ก่อนที่ “กกต.” จะตั้งโต๊ะเปิดรับสมัคร อาทิ นารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าว, ภาคภูมิ เดชหัสดิน (หมอแล็บแพนด้า), จีรนุช เปรมชัยพร อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวประชาไท, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อดีตอาจารย์และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชำแหละช่องโหว่คัด “สว.น้ำดี” เปิดทางพวกหัวหมอหลุดเข้าสภาสูง
ทั้งนี้นักวิชาการทางการเมืองต่างประเมินว่า การจัดตั้งและฮั้วกันระหว่างผู้สมัครที่จะลงสมัคร ส.ว.ครั้งนี้ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ยังจำกัดวงใน “กลุ่มอาชีพ” ของตัวเองยังไม่ได้ระดมคนข้ามกลุ่มอาชีพ อาจจะอยู่ในรอบแรกระดับอำเภอ แต่ในรอบเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพเป็นไปได้ยากที่จะมีการฮั้วกันขึ้น เพราะต่างคนต่างไม่ได้รู้จักกัน สำหรับช่องโหว่ที่ กกต.ต้องไปหารูรั้วแล้วปิด คือ ข้อมูลระดับอำเภอว่ามีใครไปสมัครในกลุ่มอาชีพใดบ้าง กลายเป็นโอกาสให้บางกลุ่มที่ตั้งกันขึ้นมาสบช่องวิ่งล็อบบี้ให้เลือกกันเอง เพื่อให้ได้คนของตัววิ่งเข้าวิน ดังนั้นการเลือกระดับจังหวัดต้องเข้มข้นเพราะเห็นหน้ากันแล้วว่าใครเป็นใครอาจเกิดการจัดตั้งหรือฮั้วกันอีกรอบเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง สว. นี่คืองานท้าทายของ กกต.
อีกจุดอ่อน คือ การจับผิด จากผู้ร้องเรียนอาจเป็นไปได้ยากเพราะต้องใช้พยานหลักฐานที่แน่นหนาจับได้คาหนังคาเขา และ คนร้องเรียนต้องเปิดเผยชื่อตัวเอ หากไปสะดุดตอเข้ากับกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นถามว่าใครจะกล้าร้อง จึงคาดการณ์กันว่า การใช้สูตรเดิม รับรองไปก่อนแล้วค่อยไปสอยทีหลัง เป็นเรื่องยาก เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้ง สส.พิสูจน์ฝีมือกกต.มาแล้วว่าทำได้น้อยมาก แจกใบแดงไปไม่กี่คนเท่านั้น
แต่เชื่อว่า การเลือก สว.การแข่งขันไม่รุนแรงเท่าการเลือกตั้ง สส.หรือการเลือกตั้งในท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นคือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายกอบจ.ที่ต้องวัดกำลังกันระหว่าง “หัวคะแนน” ที่เป็นขุมกำลังการเมืองท้องถิ่นใครมีกระสุนมากกว่ากัน รวมถึง กระแสโดยเฉพาะกระแสพรรคการเมืองและการรณรงค์หาเสียงเพื่อจูงใจให้ประชาชนเลือก แตกต่างการเลือกสว. เป็นการระดมคนที่ปลอดการเมืองและเป็นกลางเพื่อมาสมัครแล้วเข้าไปเลือกกันเอง
“สว.” รักษาการณ์จี้ “กกต.” อุดช่องโหว่สกัดฮั้วเลือก “สว.”
นายวันชัย สอนศิริ อดีต สว. กล่าวถึงการรับสมัครบุคคลเข้ารับการเลือกเป็น สว. วันแรก โดยเชื่อว่าจะมีผู้ลงสมัครหลักแสนคน ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่สะท้อนว่า ต้องการเปลี่ยน สว.ให้ไม่เหมือนเดิม เหมือนกับบรรยากาศการเลือกตั้ง สส.ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก เพราะต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ส่วนวิธีการเลือกที่ใช้วิธีเลือกตรง และเลือกไขว้ในแต่ละระดับนั้น จะทำให้ได้สว.ที่เป็นตัวแทนสาขาวิชาชีพต่างๆ ได้
นายวันชัย ยังกล่าวถึงข้อกังวลการฮั้วเลือกกันของผู้สมัครสว. ว่า มีโอกาส ที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อไปถึงระดับประเทศแล้ว การฮั้วกันนั้นทำได้ยาก ทั้งนี้เป็นประเด็นที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องเข้าไปตรวจสอบช่องโหว่เพื่อแก้ไข แต่หากตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐาน ต้องให้คนที่ถูกเลือกเข้ารับตำแหน่ง แต่หากจับได้ก็จะต้องรับโทษตามกฎหมาย
นายวันชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับการเลือกสว. ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ จะดีหรือไม่ดี ได้ผลน่าพอใจหรือไม่ ต้องติดตามและไปแก้ในรัฐธรรมนูญในครั้งต่อไป แต่ส่วนตัวเชื่อว่า นี่เป็นความพยายามในการให้สว.เป็นคนกลาง และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริง จึงอยากให้ลองดู
ข่าวที่เกี่ยวข้อง