“กองทัพธรรม” ชี้พระขึ้น ฮ. ปลุกเสกวัตถุมงคล เป็น “พุทธพาณิชย์” ส่อขัดมติมหาเถรสมาคม Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
ล่าสุดในเฟซบุ๊กมูลนิธิทนายกองทัพธรรม ของทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม โพสต์ข้อความตั้งข้อสังเกต กรณีข่าวพระสงฆ์วัดหนึ่ง ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ปลุกเสกพระบูชาและวัตถุมงคล จนกลายเป็นข่าวฮือฮา ชี้ว่าพฤติกรรมนี้ เหมาะสมหรือไม่ โดยข้อความทั้งหมด ระบุว่า
การสร้างปลุกเสกวัตถุมงคล พระเครื่อง #เฮลิคอปเตอร์ เหมาะสมหรือไม่ ?
การสร้างพระพุทธรูป ในประเทศไทยเกิดขึ้นใน พ.ศ.๕๐๐ ปรากฏเห็นเป็นหลักฐานชัดเจนในสมัยทวารวดีช่วง พ.ศ. ๔๐๐ – พ.ศ. ๑๒๐๐ และสมัยศรีวิชัยใน พ.ศ. ๑๓๐๐ โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ที่มาเคารพสังเวชนียสถาน เพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ส่วนพระเครื่อง ในประเทศไทยนั้น ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อในสังคมไทย โดยจากในอดีตที่ไม่นิยมนำพระพุทธรูปมาไว้ในบ้านก็เริ่มนำพระพุทธรูปมาไว้ในบ้าน มีการสร้างห้องพระหรือหอพระเพื่อใช้เป็นที่บูชาและเก็บรักษาพระพุทธรูปและพระพิมพ์ อีกทั้งมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ใช้นำติดตัวพกพาไประหว่างการเดินทาง และมักถูกเรียกว่า #พระเครื่องราง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการสั่งเครื่องจักรจากยุโรปมาเพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ ทำให้มีการผลิตเหรียญของเกจิอาจารย์ขึ้นทำให้เรียกพระที่ทำจากเครื่องจักรว่า “พระเครื่อง” หรือเรียกพระองค์เล็ก ๆ ที่เป็นพระพิมพ์เรียกเหมือนกันว่า“พระเครื่อง”
มูลเหตุการสร้าง คือ ความศรัทธา และต้องการสืบต่อพระศาสนาให้อนุชนรุ่นหลังเห็นความเจริญของพุทธศาสนาในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านศิลปะการสร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องรางขนาดเล็ก และการสะสมไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึง “พระธรรม” ของพระพุทธองค์อยู่ตลอดเวลาการที่มีความรู้สึกสัมผัสกับองค์พระพิมพ์เล็ก ๆ จะเป็นด้วยการห้อยอยู่ที่คอ สะสมไว้เพื่อเตือนให้ระลึกถึง “พระเดชพระคุณ” ของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น การสร้างพระพิมพ์ นับแต่ประมาณ พ.ศ.๑๓๐๐ เป็นต้นมา จึงมีพระพิมพ์ (พระขนาดเล็กห้อยคอ/ติดตัวได้) จำนวนมากที่สร้างด้วยการ “ปลุกเสกบรรจุพลังอำนาจทางพระเวทย์” วิวัฒนาการดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นที่สืบสานมานานแล้ว ดังนั้นการเช่าซื้อพระเครื่อง พระบูชา ตามความเชื่อและศรัทธาที่ตนเชื่อว่า มีความศักดิ์สิทธิ์มาครอบครองเพื่อพุทธานุภาพ จึงก่อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนและก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า #พุทธพาณิชย์
การปลุกเสกวัตถุมงคล เป็นภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับพิธีกรรมและวัตถุมงคล เป็นองค์ความรู้ทางศาสนาที่แสดงออกผ่านทางพุทธคุณด้านที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของบริบท ได้แก่ ด้านเมตตามหานิยมเพื่อตอบสนองการดำรงชีพด้วยการค้าขาย ด้านโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม และด้านแคล้วคลาดคงกระพันเพื่อตอบสนองต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต โดยมีการสอดแทรกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่าง ๆ เกี่ยวข้องลงไปในวัตถุมงคล ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นกุศโลบายและปริศนาธรรมที่ผู้บูชาต้องใช้ศรัทธาปัญญาในการทำความเข้าใจและนำความรู้ออกมาใช้ ในส่วนของกระบวนการสื่อสารภูมิปัญญา พระเกจิอาจารย์ ที่ได้ใช้ความรู้แบบซ่อนเร้นเรื่องการใช้กระแสจิต การเข้าฌาน การเพ่งกสิณ และการบริกรรมคาถาอาคมในการปลุกเสกและให้ความหมายแก่พิธีกรรมและวัตถุมงคล ในขณะที่ผู้บูชา ต้องมีความศรัทธาในพุทธคุณและมีความรู้ในการปรุงจิตของตนเองด้วยการบริกรรมคาถาและการบูชาตามคำแนะนำจึงจะเชื่อมโยงสู่พุทธคุณและดึงพลังออกมาใช้ได้
พระเกจิอาจารย์ผู้สร้างเครื่องรางของขลังปลุกเสกวัถุมคลต่าง ๆ ในอดีตนั้น ท่านเมตตาสร้างให้ด้วยเจตนาดีจริง ไม่หวังผลตอบแทน ไม่มีพุทธพาณิชย์มาเกี่ยว โดยพระสงฆ์ผู้ที่เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีในอดีต เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต , เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต, หลวงปู่เกษม เขมโก, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, หลวงปู่ฟั่น อาจาโร เป็นต้น วัดถุมงคลของท่านทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่มีอานุภาพเต็มไปด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทั้งสิ้น เพราะท่านทำให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเป็นที่น่าสังเกตุว่าพระอาจารย์ทั้งหลายนั้นโดยส่วนตัวของแต่องค์นั้นท่านไม่ต้องการสร้างหรือปลุกเสกวัตถุมงคลเลย แต่ท่านทำเพราะความจำเป็นและต้องการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาบ้าง แจกจ่ายทหารเพื่อเป็นขวัญกำลังใจยามรบทัพจับศึกบ้าง ศิษย์รบเร้าขอสร้างเพื่อทำประโยชน์และเป็นที่ระลึกบ้าง โดยท่านไม่หวังผลตอบแทนใด
การประกอบพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกวัดถุมงคลในแต่ละครั้งนั้น ไม่เคยเป็นที่ปรากฎว่าพระอริยเจ้าท่านใดในอดีตที่ผ่านมา ได้ทำการปลุกเสกวัตถุมงคลด้วยท่าทีที่ไม่สำรวม แปลกประหลาดแต่ประการใดเลย ท่านทำพิธีอธิษฐานจิตเพ่งฌาน สมาธิ อภิญญา ไปที่วัตถุมงคลด้วยพระสูตรที่เป็นมงคลด้วยการทำสมาธิด้วยก็ริยาอาการอันสงบสำรวมอย่างยิ่ง การกระทำดังกล่าวด้วยจิตประกอบด้วยเมตตาของท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของเหล่าชาวพุทธโดยไม่มีข้อสงสัยต่อการสร้างวัตถุมงคลและอธิธานจิตของท่านเหล่านั้นเลย
ในยุคปัจจุบันพระเกจิอาจารย์ท่านก็ดำเนินวิธีปฏิบัติตามวิธีการของครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ แต่ก็ปรากฏพระบางกลุ่ม บางรูป ที่มีพฤติการณ์นอกรีตนอกรอยโดยการปลกเสกเลขยันต์ที่เป็นแนวทางไสยศาสตร์มนต์ดำแบบฆราวาสบ้าง ทรงเจ้าเข้าผีบ้าง ซึ่งยังปรากฏให้เห็นตามสื่อสารมวลชนเป็นระยะ ๆ
กรณี ปรากฎข่าวพระสงฆ์ในจังหวัดหนึ่งขึ้น #เฮลิคอปเตอร์ ปลุกเสกพระบูชาและวัตถุมงคลนั้น #เห็นว่า เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปฏิบัติที่ผิดแผกแหวกแนวไปจากวิถีปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาในการปลุกเสกอธิฐานจิตวัตถุมงคล ที่เป็นไปโดยอาการสงบเสงี่ยม และดำรงสมาธิอย่างเยือกเย็นในมณฑลพิธีพุทธาภิเษกซึ่งเป็นสถานที่อันเหมาะสม กั้นด้วนราชวัตรฉัตรธง และจัดวางวัตถุมงคลที่เป็นพระพุทธรูปและเครื่องรางไว้ภายในมณฑลพิธีที่เหมาะสม การขึ้นเฮลิคอปเตอร์ปลุกเสกจะขลังหรือศักดิ์สิทธิ์กว่าการปลุกเสกในมณฑลพิธีหรือเปล่าไม่ทราบ แต่การทำเช่นนั้นทำให้ประชาชนงุนงงและวิพากย์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมและผิดจารีตประเพณีการพุทธาภิเสกตามที่ครูบาอาจารย์เคยทำมา จึงเป็นโลกวัชชะ ชาวโลกติเตียน จึงไม่ควรทำเช่นนี้ การที่พวกท่านห่มผ้าเหลืองซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์ จึงต้องคิดพิจารณาให้มากกว่าชาวบ้านว่าสิ่งใดเหมาะ ไม่เหมาะแก่เพศบรรพชิต
นอกจากนี้ อาจมองได้ว่าผู้จัดงานมีเจตนาสร้างภาพเหตุการณ์ขึ้นเพื่อให้เป็นที่สนใจของสาธารณชนเพื่อหวังผลการโปรโมตวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นนั้น อันเป็นการโฆษณาแฝงเพื่อการพุทธพาณิชย์เพราะรู้อยู่ว่าการนำพระขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปปลุกเสกวัตถุมงคลย่อมเป็นที่สนใจของประชาชน
การกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เรื่อง การโฆษณาพระพุทธรูป/พระเครื่อง และวัตถุมงคลในสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือไม่ (อาจจะนะครับ) และหากพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นเป็นพระสังฆาธิการด้วยแล้ว ท่านต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากและต้องรักษาจริยาพระสังฆาธิการและต้องปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด การกระทำที่ปรากฏตามข่าวแม้ยังไม่ปรากฏความผิดตามกฎหมายใด แต่เป็นการกระทำที่ชาวบ้านเขาตำหนิติเตียนเพราะไม่มีใครเค้าทำกันตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สำนักพุทธควรเข้าไปตรวจสอบและถวายคำตักเตือนเพื่อป้องปรามมิให้มีการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนชาวพุทธมากไปกว่านี้ เพราะพวกเขาอาจเสื่อมศรัทธากับพุทธศาสนาในรูปแบบของพุทธพาณิชย์เช่นนี้ครับ
มูลนิธิทนายกองทัพธรรม และพี่น้องชาวพุทธรวมถึงพี่น้องสื่อมวลชน ที่ห่วงใยต่อสถานการณ์บิดเบือนพระสัทธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยบิดเบือนหลักปริยัติธรรม หลัการปฏิบัติธรรม และหลักปฏิเวธธรรม พวกเราร่วมกันรณรงค์ช่วยเป็นหูเป็นตาเพื่อจรรโลง ปกป้อง รักษาพระพุทธศาสนาคนละไม้คนละมืออย่างแข็งขัน จึงกราบนมัสการ ยังพระเถรานุเถระ พระภิกษุสามเณร ให้พวกท่านช่วยกันสอดส่องดูแล อย่าให้พระสงฆ์กลุ่มใด รูปใด ออกมาสร้างปรากฎการณ์ที่บิดเบือนและขัดต่อหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือละเมิดพระธรรมวินัย หรือสร้างกระแสต่างๆ ในเชิงพุทธพาณิชย์เพื่อหวังกำไรและลาภสักการะ จนเกิดกระแสโลกวัชชะ ทำให้ชาวโลกเขาติเตียน จนชาวพุทธเขาไม่ยอมรับพฤติการณ์ดังกล่าวของพระสงฆ์ นำไปสู่การต่อต้านและไม่ยอมรับการกระทำที่ละเมิดพระธรรมวินัยเช่นนั้น นำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาและภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนาเกิดความเสียหายในวงกว้าง
ผมในนามประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรมและชาวพุทธ ขอเรียกร้องให้ #คณะสงฆ์ #เจ้าคณะผู้ปกครอง #สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ #สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทั้ง ๗๖ จังหวัด ตรวจตรา ตรวจสอบ และป้องปราม ตักเตือน อย่าให้พระสงฆ์กลุ่มใด รูปใด กระทำการที่เป็นโลกวัชชะเช่นนั้นอีก
ทั้งนี้ #มูลนิธิทนายกองทัพธรรม จะผลักดันให้มีองค์กรตรวจสอบการบิดเบือนพระธรรมวินัยและตรวจสอบการปฏิบัติที่นอกรีตนอกรอยในวงการพระพุทธศาสนาให้สำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น