“กรมราชทัณฑ์” แจงปมไม่ให้ไฟล์ภาพ “บุ้ง ทะลุงวัง” ชี้เหตุผลละเอียดอ่อน ต้องพิจารณารอบคอบ Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
หลังจากนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ หรือทนายด่าง และนางสาววีรดา คงธนกุลโรจน์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ ได้เดินทางไปขอข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ทำการตรวจรักษา นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ในวันนี้ (24 พ.ค.67) แล้วไม่ได้ไฟล์วิดีโอวงจรปิดกลับไปด้วยนั้น
ล่าสุดกรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจงระบุว่า “กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า กรณีดังกล่าวทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้แจ้งให้ทนายความได้รับทราบว่า ยังไม่สามารถส่งมอบข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ แก่ทนายความของนางสาวเนติพรฯ ตามที่ร้องขอได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาให้เกิดความถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด ได้แก่ สิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องขังซึ่งอยูในที่เกิดเหตุ และสิทธิส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจรักษาในขณะเกิดเหตุ รวมทั้งภาพไม่เหมาะสมในช่วงเวลาที่กำลังตรวจรักษาอาการเจ็บของผู้ป่วย
โดยกรณีสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าว ถือเป็นกรณีละเอียดอ่อน ซึ่งหากเผยแพร่ไปสู่สาธารณะอาจเป็นฐานข้อมูล และคงอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต หรือโลกโซเชียล (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) โดยไม่ปรากฏหลักประกัน ว่าแม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็อาจจะไม่สามารถนำออกจากระบบดังกล่าวได้ อีกทั้งยังเป็นการยากที่จะตรวจสอบได้ว่าข้อมูลดังกล่าวยังอยู่ในระบบโซเชียลมีเดียหรือไม่ ดังนั้น จึงถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ต้องขังอื่นที่ปรากฏอยู่ในกล้องวงจรปิด รวมถึงอาจเกิดความเสียหายแก่ทางราชการในด้านของการควบคุม และตรวจรักษาผู้ต้องขังภายในเรือนจำ
ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งการพิจารณาให้ข้อมูลดังกล่าวแก่บิดามารดาของผู้เสียชีวิต และเรียนเชิญนัดหมายให้ไปตรวจสอบ และปรึกษาหารือร่วมกันกับทางทัณฑสถานฯ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่ไม่กระทบต่อครอบครัว และบุคคลอื่น
กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า การเปิดเผยข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดตามที่ทนายความร้องขอได้หรือไม่ อย่างไรนั้น ต้องถือปฏิบัติตามหลักการที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอื่น และของผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ที่กำหนดไว้ตาม มาตรา15 (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ประกอบกับ มาตรา7 แห่งพระราชบัญญัติ สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
ทั้งนี้ ทั้งนั้นไม่ตัดสิทธิของผู้ที่ยื่นขอข้อมูลดังกล่าวที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น และขอให้ติดตามข้อมูลทางการแพทย์ และผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น