“วราวุธ” ชูนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร โยงภาคเกษตร-แรงงาน แนะใช้เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่ม
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) บรรยายพิเศษ ในหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 5 หัวข้อ “Effect of super aged society on labor productivity in Thai agriculture” โดยนายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบัน วิกฤตประชากรของประเทศไทย พบว่า เด็กมีอัตราการเกิดน้อย และสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน และคาดการณ์ว่าในปี 2585 ประชากรไทยจะลดลงเหลือจำนวน 60 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็ก (0 -14 ปี) จะมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10.36 และประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) จะเหลือเพียงร้อยละ 58.20 ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.44 ทำให้วัยแรงงานต้องเป็น “The แบก” ของประเทศ อีกทั้งระบบสวัสดิการและหลักประกันของรัฐมีค่าใช้จ่ายของรัฐในการจ่ายเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปี 2566 ใช้งบประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาทต่อผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน ถ้ายังจ่ายแบบเดิม (ขั้นบันได) คาดว่าปี 2572 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.26 แสนล้านบาท แต่หากเพิ่มเป็น 1,000 บาท จ่ายแบบทั่วหน้า ภายใน 5 ปี จะต้องใช้งบประมาณ 1.89 แสนล้านบาท และหากเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาท จ่ายแบบทั่วหน้า จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 5.68 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่คนหนุ่มสาวไม่สนใจอาชีพภาคเกษตร จากสถิติปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนมากถึง 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี 2565 แรงงานภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 11.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29.31 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 58.46 ปี ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยผนวกกับความสนใจในการทำงานในภาคการผลิตอื่นๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านผลิตภาพในภาคเกษตรของประเทศ