ความคืบหน้าเหตุดินถล่มในจังหวัด เอนกา ห่างจากกรุง พอร์ต มอร์สบี เมืองหลวงปาปัวนิวกินี ประมาณ 600 กิโลเมตรเมื่อสองวันก่อน สื่อในประเทศรายงานในตอนแรกว่า อาจมีผู้เสียชีวิตถูกฝังใต้โคลนกว่า 300 ราย แต่ล่าสุด องค์การเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ หรือ IOM ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ประเมินสถานการณ์วันนี้ (26 พ.ค.) ว่า อาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 670 ราย หลังจากได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หมู่บ้านยัมบาลี ซึ่งที่นั่น มีบ้านเรือนกว่า 150 หลังถูกฝังกลบ
เซอร์ฮาน อัคโตปรัก หัวหน้า IOM ในปาปัวนิวกินี กล่าวว่า พื้นที่ประสบภัยยังมีความเสี่ยงสูงมาก ยังมีการเคลื่อนตัวของดิน หินถล่มลงมา และแผ่นดินแยกจากแรงดันน้ำใต้ดิน ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยราว 1 พันคน เรือกสวนไร่นาที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งน้ำ ถูกทำลายหายไปเกือบหมด ชาวบ้านพยายามค้นหาและกู้ศพ ด้วยเครื่องมือตามมีตามเกิด ถึงวันนี้ (26 พฤษภาคม) พบเพียง 5 ศพเท่านั้น เศษซากปรักหักพังจากดินสไลด์ ที่ประกอบไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ ต้นไม้ และดินที่เคลื่อนตัว มีความลึกร่วม 8 เมตรในบางพื้นที่
ยูเอ็นประเมินว่า มีประชาชนเกือบ 4 พันคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยและใกล้เคียง แต่ องค์กรบรรเทาทุกข์ “แคร์ ออสเตรเลีย” ที่เข้าไปช่วยเหลือ เตือนว่า จำนวนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน อาจมีมากกว่าที่คาด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีชาวบ้านหลบหนีจากการสู้รบระหว่างชนเผ่าในพื้นที่ใกล้เคียงทะลักเข้าไปที่นั่นด้วย
ดินถล่ม เกิดขึ้นเวลาประมาณ 3 นาฬิกาของวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม เป็นเวลาที่ชาวบ้านกำลังนอนหลับ โฆษกขององค์กร แคร์ ออสเตรเลีย ระบุว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะ กว่าจะรู้จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง แต่เวลาที่เกิดเหตุ บ่งว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ความรุนแรงระหว่างชนเผ่าใกล้ถนนสายหลัก ที่ใช้เข้าถึงพื้นที่ประสบภัย ทำให้ความพยายามบรรเทาทุกข์ทวีความซับซ้อน กองทัพปาปัวนิวกินีต้องจัดกำลังอารักขาขบวนรถส่งความช่วยเหลือ
สำหรับปาปัว นิวกินี ตั้งอยู่ในแปซิฟิกใต้ ทางเหนือของออสเตรเลีย มีประชากรกว่า 11 ล้าน 7 แสนคน และมีภาษาพื้นเมือง 850 ภาษา เป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางภาษามากที่สุดในโลก
Update: The UN estimates that at least 670 people have died in Papua New Guinea's massive landslide. Aid workers and villagers are searching for survivors amid dangerous conditions. pic.twitter.com/CemQZ5AnPk
— Volcaholic 🌋 (@volcaholic1) May 26, 2024