ลูกจ้างต้องรู้ สิทธิประโยชน์ว่างงาน เมื่อถูกเลิกจ้าง-ลาออก มีอะไรบ้างเช็กเลย – Top News รายงาน
การตกงานแบบไม่ทันตั้งตัวเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้า “ถูกเลิกจ้าง” ทำยังไงดี สิทธิประโยชน์และค่าชดเชยอะไรที่เราควรได้บ้าง คือเรื่องที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพื่อรักษาผลประโยชน์และสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ
สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 นั้น ถือเป็นสิทธิที่ช่วยคุ้มครองลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกจ้างยังคงสถานะผู้ประกันตนที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมได้อย่างครบถ้วนต่อเนื่องแล้ว ผู้ประกันตนยังคงได้รับเงินทดแทนจากกรณีว่างงานอีกด้วย
1. สิทธิรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
1.1 กรณีอายุงานไม่ถึง 120 วัน ไม่ได้รับเงินชดเชย
1.2 อายุงานไม่น้อยกว่า 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชย 1 เดือนสุดท้าย (30 วัน)
1.3 อายุงาน 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชย 3 เดือนสุดท้าย (90 วัน)
1.4 อายุงาน 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 6 ปีได้รับเงินชดเชย 6 เดือนสุดท้าย (180 วัน)
1.5 อายุงาน 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 8 เดือนสุดท้าย (240 วัน)
1.6 อายุงาน 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 20 ปี ได้รับเงินชดเชย 10 เดือนสุดท้าย (300 วัน)
1.7 อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 13.3 เดือนสุดท้าย (400 วัน)
1.2 ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ)
– ในกรณีที่เลิกจ้างกระทันหัน พนักงานยังมีสิทธิได้รับ “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” หรือ “ค่าตกใจ” อีก 1-2 เดือน
– บริษัทจะต้องแจ้งเรื่องการเลิกจ้างล่วงหน้าภายใน 1 รอบเงินเดือน เช่น หากจ่ายเงินเดือนทุกวันที่ 30 แล้วแจ้งพนักงานเรื่องเลิกจ้างในวันที่ 30 ของเดือนว่า “พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว” กรณีนี้จะต้องจ่ายค่าตกใจ 1 เดือน
– แต่ถ้าบริษัทยังให้มาทำงานต่อในวันที่ 1 แล้วบอกเลิกจ้างวันนั้น ให้เก็บของออกจากบริษัทเลย จะต้องจ่ายค่าตกใจ 2 เดือน (เริ่มจ้างงานของเดือนใหม่ไปแล้วในวันที่ 1)
1.3 เงินทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง (ประกันสังคม)
– พนักงานยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม โดยจะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน ปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุด ไม่เกิน 15,000 บาท