Top news รายงาน วันนี้ (29 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.45 น. (เวลาท้องถิ่นฮ่องกง) ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรม Four Seasons เขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน UBS Asian Investment Conference (AIC) 2024 งานรวมตัวของภาคธุรกิจ นักลงทุนจากสถาบันการเงินทั่วโลก และบุคคลที่มีชื่อเสียงในภาคธุรกิจ มากกว่า 2,000 ราย รวมทั้งบริษัทในเอเชียแปซิฟิก 300 แห่ง ซึ่งได้มาหารือกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการค้า การลงทุน ในภาคต่าง ๆ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Wisdom: An eye on the past, a view to the future” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ที่นำภูมิปัญญา หรือ Wisdom จากประสบการณ์ในอดีต มาเป็นแนวทางในการรับมือกับความท้าทาย และกำหนดอนาคตของประเทศไทย โดยความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตนี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ไทยผ่านพ้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซับซ้อน และสามารถคว้าโอกาสที่ช่วยประเทศให้เติบโตทางเศรษฐกิจได้ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงวิสัยทัศน์ต่ออนาคตของประเทศไทย
ส่วนของการกำหนดนโยบาย เป้าหมายของรัฐบาล คือ การสร้างนโยบายเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยมีแนวทางในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลัง การปฏิรูปกฎระเบียบ และการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในสาขาที่สำคัญ อาทิ ไทยปรับปรุงมาตรการด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้น และปรับปรุงกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ขจัดอุปสรรคด้านขั้นตอนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านธุรกิจและการเติบโตของผู้ประกอบการ รวมทั้งลดความซับซ้อนในการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติ พัฒนาระบบ Super License สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ลดข้อจำกัดการนำเข้าและส่งออก และการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
นโยบายทางการเงินการคลังที่สำคัญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 ประเทศไทยมีการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 1.5% และคาดการณ์ทั้งปีจะอยู่ที่ 2-3% รัฐบาลจึงมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการเติบโตเศรษฐกิจของไทยให้สูงขึ้นผ่านการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท (275 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้คนไทย 50 ล้านคน ซึ่งจะช่วยอัดฉีดเงินกว่า 5 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย และจะสามารถกระตุ้น GDP ได้ 1.2 – 1.8% และด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้เงินจะลงไปถึงชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจเล็ก ๆ ทำให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยในระยะยาว นโยบายดังกล่าวจะวางรากฐานระบบการชำระเงินแบบบล็อกเชนทั่วประเทศ พร้อมด้วยการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และการลงทุนจากต่างประเทศที่มากขึ้น