เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ECST) ชี้ ประเทศไทยแบนบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปีที่ 10 แต่การเข้าถึงของเด็กและเยาวชนกลับพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำรายได้ภาษีสรรพสามิตลดฮวบ ส่งเสริมตลาดใต้ดินและขบวนการคอร์รัปชัน ชี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทศวรรษเป็นหลักฐานยืนยันว่ามาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นล้มเหลว พร้อมเสนอกฎหมายคุมบุหรี่ไฟฟ้า
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือ กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และ เพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิด เผยว่าเนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 2567 ว่า
“บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนในปีพ.ศ. 2557 จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นในปีพ.ศ. 2558 สคบ. ก็มีคำสั่งห้ามขาย ห้ามให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า ตอนนั้นอ้างว่าทำเพื่อเด็ก เพื่อสังคม ลามไปยันศีลธรรมและความมั่นคงประเทศชาติ แต่ตัดภาพมาตอนนี้ 10 ปีผ่านไปผมเห็นบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนเมือง ผลสำรวจของหน่วยงานรณรงค์ปี 2565 พบว่ามีคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 700,000 คน ซึ่งเพิ่มจากปี 2564 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจไว้ถึง 10 เท่า เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนแบนให้พูดได้ว่าแบน ว่าจัดการแล้ว แต่ผลลัพธ์ก็ตามที่เราเห็นกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอยู่ทุกที่”