เปิดสถิติพุ่งสูง คนไทย “ป่วยสุขภาพจิต” เพิ่ม ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม – Top News รายงาน
สุขภาพจิตเป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล ภัยเงียบวนเวียนภายในใจมนุษย์ ที่รอวันแสดงอาการออกมา เมื่อคนเราแบกรับความเจ็บปวดภายในจิตใจที่แตกสลายไม่ไหว ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและบุคคลในสังคมรอบข้าง หลายครั้งผลของมันก็นำมาซึ่งความสูญเสียที่น่าใจหาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสภาพปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการยกระดับประสิทธิภาพในการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
จากการรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้เผยข้อมูลอันน่าตกใจเกี่ยวกับ “ปัญหาสุขภาพจิต“ ในไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2567 พบว่าในประเทศไทย มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวชมากขึ้น จากปี 2558 จำนวน 1.3 ล้านคน เป็น 2.8 ล้านคน ในปี 2562 และ 2.9 ล้านคน ในปี 2566
สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย มีความรุนแรงมากขึ้น แต่อาจไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากยังแตกต่างจากสัดส่วนระดับโลกค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานการณ์ในรายละเอียดแล้ว พบประเด็นสำคัญ ดังนี้
โรคซึมเศร้า ส่งผลให้วัยทำงานหายไป 12 พันล้านวัน
ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตยังมีสัดส่วนสูง จากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง กรมสุขภาพจิต (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค.2566- 22 เม.ย.2567) พบว่า ปี 2567 มีผู้เข้ารับการประเมิน 8.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยผู้เข้ารับการประเมิน จะมีอัตราความเครียดสูง ร้อยละ 15.4 ,เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 17.2 ,เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 10.6
ปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด พบว่า ภาวะซึมเศร้า บวกกับความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วัยทำงานหายไป ประมาณ 12 พันล้านวัน สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง แต่ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแล และเฝ้าระวังแนวทางที่กำหนด โดยในปี 2566 มีเพียง ร้อยละ 23.34 จากทั้งหมด 27,737 คน