“พิพัฒน์” เปิดเวทีภาคการเมือง นายจ้าง ลูกจ้าง รับฟังความเห็น พัฒนาระบบประกันสังคม ชี้เป็นหน้าที่ทุกคนต้องช่วยกัน ให้กองทุนปลอดภัย
กดติดตาม TOP NEWS
วันที่ 31 พ.ค. 67 ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดงานประชุมสร้างการรับรู้ และรับฟังข้อคิดเห็นงานประกันสังคม “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนภาคการเมือง ก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมงาน
โดยนายพิพัฒน์ กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของการประชุมวันนี้ ว่า มาจากการตนได้ไปตอบกระทู้ชี้แจงในสภา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ถามถึงว่า ในปี2597 กองทุนประกันสังคมจะล้มละลาย ทางกระทรวงแรงงานและประกันสังคมเราได้มีการเตรียมการอย่างไรไว้บ้าง การที่จะให้ประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวเป็นไปไม่ได้ ในวันนี้ตนจึงได้จัดการประชุมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคการเมือง สภาลูกจ้างนายจ้าง และนักวิชาการ เพื่อการเสริมสร้างสวัสดิการที่ดีภายใต้กองทุนที่ยั่งยืน และเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สังคม และ เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน และยกระดับการบริการงานด้านประกันสังคมของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เราจะมีการจัดอีกครั้งในวันที่ 16-17 ตุลาคม ในปีงบประมาณ 2568 ที่ทางประกันสังคมได้มีการตั้งประมาณเผื่อไว้แล้ว ซึ่งจะจัดเป็นเวลา 2 วันและจะมีการขยายเพิ่มเติมขึ้น และจะมีการเชิญภาคธุรกิจ สถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะ ผู้บริหารสูงสุดของ ILO จะมาร่วมด้วย พร้อมขอให้ทุกพรรคการเมือง เช่น พรรคก้าวไกลเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ มาร่วมในการเสวนาครั้งต่อไป ที่จะเป็นการช่วยกันระดมสมอง และได้ส่งเสียงสะท้อนตามสายไปถึงคณะก้าวหน้า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ถ้ามีนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านกองทุนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ ขอเชิญมาช่วยกัน อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นภาระของกระทรวงแรงงาน หรือประกันสังคม แต่เป็นภาระของพวกเราคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ประกันตนทุกคน ต้องช่วยกันประคับประคองเพื่อให้กองทุนนี้อยู่รอดปลอดภัย ไม่มีคำว่าสิ้นสุด
ส่วนทิศทางการพูดคุยวันนี้ นายพิพัฒน์กล่าวว่า ทุกๆคนที่เข้าร่วมการเสวนา ได้ให้ข้อคิดเห็นและมีการตั้งคำถาม และผู้บริหารประกันสังคมก็จะมีการตอบทุกคำถามผ่านเพจของประกันสังคม พร้อมกำชับว่าเราจะตอบทุกคำถาม จากที่มีการถามมาถือเป็นข้อเสนอแนะที่ดี และการที่มีผู้เสนอแนะมาพวกเราก็จะมีการบ้านต่อไป
เมื่อถามถึงนโยบายเพื่อยกระดับการบริการงานด้านประกันสังคมของประเทศให้ดียิ่งขึ้น นายพิพัฒน์กล่าวว่า การวางนโยบายตรงนี้ตนคิดว่า ในหลาย ๆ อย่างจ่ออยู่ที่ครม. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลาคลอด การขอกู้ยืมเงินจาก 3 ข. และในเรื่องของพ.ร.บ. ต่างๆ อย่างช้าเดือนหน้า ที่เป็นพ.ร.บ.ของประกันสังคม จะเข้าสู่ครม.และผ่านครม.จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและจะเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการที่จะมีการถกกันอีกครั้ง ที่หลายพรรคการเมืองก็รออยู่ ส่วนพ.ร.บ.นี้ที่มีข้อกังขา ตนต้องชี้แจงอีกครั้งว่า เมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่เพิ่งจะมีการเลือกคณะกรรมการประกันสังคม ที่มีการพูดออกไปว่า จะมีการยกเลิกคณะกรรมการประกันสังคม
ทั้งที่เพิ่งมีการเลือกตั้ง ดังนั้นชี้แจงว่าเป็นพ.ร.บ. ที่มีการทำประชาพิจารณ์เมื่อปี 2564 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด 19 ซึ่งมีข้อจำกัดที่ทำให้รัฐมนตรีเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการสรรหา ซึ่งในห้วงภาวะตอนนั้นเราไม่สามารถที่จะจัดการเลือกตั้ง ก็จะมีคำว่าเมื่อเกิดภาวะวิกฤต ตรงนี้ก็จะให้กรรมการประกันสังคมไปพิจารณาจากมาตรา 8 เข้าไปสู่มาตรา 9 และส่งให้รัฐมนตรี ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจไปทำอะไรทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่คณะกรรมการประกันสังคม ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือจากการเลือกตั้ง เราไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาอำนาจตรงนั้นมาไว้ที่รัฐมนตรี แต่ฉบับนั้นเป็นฉบับที่ร่างขึ้น และทำประชาพิจารณ์เมื่อปี 64
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันต้องมีการเลือกตั้งเท่านั้น และตนก็เชื่อว่าทุกครั้งเมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร สส.จะช่วยกันโหวตวาระ 1-2-3 เพื่อเข้าสู่ สว.ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
แท็กที่เกี่ยวข้อง
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น