หมอ มช. เฉลย ภูมิปัญญาต้มเห็ดกับข้าวสาร-ช้อน พิสูจน์เห็ดพิษได้จริงหรือไม่ ? – Top News รายงาน
วันนี้ (1 มิ.ย.67) นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งออกมาเตือนอันตรายในการบริโภคเห็ดพิษ โดยเฉพาะเห็ดที่มีลักษณะกลมๆ คล้ายกับเห็ดถอบ เช่น พวกเห็ดไข่หงส์ เห็ดลูกฝุ่น เห็ดหำหมา-หำฟาน และ พวกเห็ดดาวดิน ที่หากรับประทานเข้าไปแล้วจะมีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร และ ทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย แต่อาจไม่ได้เป็นพิษร้ายแรงถึงแก่ชีวิต ส่วนมากอาการมักจะเกิดเร็วภายในไม่เกิน 3-4 ชั่วโมงหลังจากที่รับประทานเข้าไป
แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือเห็ดกลุ่มที่มีพิษร้ายแรงจำพวกเห็ดระโงก-เห็ดไข่ห่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะออกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายนทุก ๆ ปี โดยเห็ดไข่ห่านมีทั้งชนิดที่รับประทานได้และรับประทานไม่ได้ ทั้งสองแบบมีลักษณะคล้ายกันชนิดที่มีสีสด (สีเหลือง สีส้ม) สามารถรับประทานได้ ต่างกับชนิดที่มีสีขาวล้วน ซึ่งอาจจะเป็นทั้งชนิดที่กินได้ หรือ เป็นชนิดที่มีพิษร้ายแรงมาก
จุดสังเกตอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ “ด้านบนของดอกเห็ด จะเห็นเป็นเส้นๆ เป็นรอยเหมือนกับเป็นหวี” ถ้าไม่มีหวีด้านบนลักษณะนี้มีพิษรุนแรง รับประทานเพียงแค่ดอกเดียว พิษก็อาจส่งผลกระทบต่อตับอย่างรุนแรง ถึงขั้นตับวายได้ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต