“อ.เจษฏา” เตือนระวัง “เห็ดพิษ” ดูให้ดีก่อนกิน เก็บเห็ดป่า หน้าฝนต้องระวัง – Top News รายงาน
เห็ดป่าจัดเป็นอาหารที่นิยมรับประทานในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูเห็ดหลาก ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่าเพื่อนำมาประกอบอาหารรับประทาน และขายในตลาดท้องถิ่น ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษ และผู้คนได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
วันนี้ 5 มิถุนายน 2567 อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant โดยระบุว่า… เพิ่งโพสต์เตือนเรื่องให้ระวัง “เห็ดระโงกพิษ” ไปเมื่อวันก่อน … วันนี้ก็มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดเลย จากการกินเห็ดระโงกพิษเข้าไปอีกแล้ว.. ถ้าเจอใครที่น่าจะได้รับพิษจากเห็ด ให้พยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยการล้วงคอ หรือให้ทานไข่ขาว จากนั้น รีบพาส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดครับ
วิธีการสังเกตเห็ดระโงกพิษ มาให้อ่านกันอีกครั้ง
“หากสังเกตเบื้องต้นจะพบว่า เห็ดระโงกพิษ มีหมวกขาวล้วน ทั้งแก่และอ่อน มีปุยเล็กน้อย ไม่เรียบมัน ก้านกลวงบ้าง ตันบ้าง ส่วน เห็ดระโงกขาว กลางหมวกมีสีเหลืองเล็กน้อยตอนอ่อน ตอนแก่มีสีเหลืองมากขึ้น หมวกเรียบมัน ไม่มีปุย ก้านตัน หากแต่ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภคเห็ดระโงกขาวในช่วงดอกเห็ดบานแล้ว แต่จะนิยมเก็บช่วงเห็ดอ่อน ซึ่งมีลักษณะดอกเห็ดตูมคล้ายไข่ กลมรี ยากต่อการจำแนก จากงานวิจัยพบวิธีจำแนกเบื้องต้นว่า หากจะเก็บเห็ดระโงกช่วงเห็ดอ่อน ต้องนำมาผ่าเพื่อดูชั้นผิวด้านใน ถ้าผ่าเห็ดตูมแล้วเห็น “สีเหลือง” อยู่ที่เปลือกชั้นที่ 2 จากด้านบนคือ “เห็ดระโงกขาวกินได้”
แต่หากผ่าแล้วเห็นเป็น “สีขาวล้วน” คือ “เห็ดระโงกพิษ” แน่นอน ฉะนั้นต้องผ่าเห็ดทุกครั้งก่อนเก็บหรือต้ม
ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็น “ดอกอ่อน” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากจะไม่สามารถทราบได้เลยว่า เป็นเห็ดมีพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอก จะเหมือนกัน”